ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ชื่อของพายุมีที่มาอย่างไร ?

ชื่อของพายุมีที่มาอย่างไร ?

ภาพจากดาวเทียมของพายุไต้ฝุ่นโบพา ที่สร้างความเสียหายในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2012

ภาพจากดาวเทียมของพายุไต้ฝุ่นโบพา ที่สร้างความเสียหายในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2555

พายุเซินติญ ที่กำลังเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนบนประเทศเวียดนาม ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางของไทย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานงานให้ 29 จังหวัด เตรียมรับมือน้ำท่วม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงคลื่นลมแรง

เจ้าหน้าที่กำลังติดตามสถานการณ์ รวมถึงเตรียมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง และกวดขันการเดินเรือทุกประเภทตลอดช่วงนี้

เหตุใดชื่อ เซินติญ ถึงถูกนำกลับมาใช้อีก

หลายคนเคยได้ยินชื่อ "เซินติญ" มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน เมื่อครั้งที่พายุไต้ฝุ่นชื่อเดียวกันนี้เข้าถล่มเวียดนามตอนบน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 คน และความเสียหายต่อที่พักอาศัยกว่า 50,000 หลังคาเรือน ในเดือน ต.ค. 2555

เหตุที่ชื่อ เซินติญ ถูกนำมาใช้อีกครั้ง เป็นเพราะวิธีการตั้งชื่อพายุ เป็นการนำรายชื่อที่มีอยู่แล้วมาใช้วนตามลำดับอักษร โดยชื่อทั้งหมดเป็นชื่อที่ได้รับการเสนอจาก กลุ่มประเทศที่อยู่บนคาบสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้

สภาพอากาศในจังหวัดไห่หนานของจีน เมื่อพายุเซินติญ ขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ยังมีความแรงในระดับพายุไต้ฝุ่น

"รายชื่อของพายุพวกนี้ มันแบ่งออกเป็น 5 คอลัมน์ ไล่ตามตัวอักษร และถูกใช้วนไปเรื่อย ๆ" นายบุญธรรม ตั้งล้ำเลิศ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ หัวหน้าเวรพยากรณ์ประจำวัน กล่าวกับบีบีซีไทย

เขาอธิบายว่า นักอุตุนิยมวิทยาจากภูมิภาคนี้ทั้งหมด จะประชุมร่วมกันหลายครั้งในแต่ละปี โดยรวมถึงการหารือเรื่องการกำหนดชื่อของพายุด้วย

ดังนั้น พายุที่เกิดในประเทศ อย่าง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย หรือมาเลเซีย ทั้งหมดจะใช้ชื่อพายุจากรายชื่อเดียวกัน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดราว 140 ชื่อ

เซินติญ หรือ Son-Tinh เป็นชื่อที่เวียดนามเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นชื่อของวิญญาณหรือตัวละครที่เป็นตัวแทนของภูเขา ในภาษาเวียดนาม และมีความหมายในแง่บวก

ขณะที่ชื่อของไทย มีชื่ออย่าง พระพิรุณ วิภา และเมขลา ไปจนถึงชื่อดอกไม้และผลไม้ เช่น กุหลาบ ชบา และขนุน

ทำไมพายุต้องมีชื่อเรียก ?

เดิมที นักอุตุนิยมวิทยาใช้วิธีติดตามพายุตามปีที่พวกมันเกิดขึ้น แต่ในบางภูมิภาคของโลกอาจมีพายุได้นับร้อยครั้งในแต่ละปี และแต่ละลูกอาจมีอายุนานหลายเดือน

การตั้งชื่อให้กับพายุ จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามพวกมันได้สะดวก นอกจากนี้ มันยังช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ตามสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ส่วนชื่อของพายุที่เคยสร้างความเสียหายรุนแรง มักจะถูกทดแทนด้วยชื่อใหม่ ด้วยเหตุผลเพื่อความเหมาะสม เช่น พายุทุเรียน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในฟิลิปปินส์กว่า 1,400 คน ได้ถูกทดแทนด้วยชื่อ มังคุด ในปี 2551

พายุหมุนเขตร้อน (Tropical storm) คือคำทั่วไปที่ใช้เรียกพายุหมุนขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยกิโลเมตร

พายุหมุนเขตร้อน มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด เช่น พายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" (Hurricane) หากเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" (Typhoon) ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเรียกว่า "ไซโคลน" (Cyclone) บางครั้งก็เรียกพายุไซโคลนที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า "วิลลี-วิลลี" (Willy-Willy)

ผลกระทบจากพายุเซินติญครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ พายุ "เซินติญ" ได้ถูกจัดเป็นพายุโซนร้อน และกำลังเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก ผ่านประเทศลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในนี้ (19 ก.ค.) โดยล่าสุดได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสานของไทยได้รับผลกระทบจากพายุเซินติญตั้งแต่เมื่อวานนี้ หลังฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้เกิดเหตุน้ำป่าทะลักใน จ. แม่ฮ่องสอน และปริมาณน้ำฝนยังทำให้มีน้ำไหลท่วมบ้านเรือนใน จ. แพร่

ในภาคอีสานมีรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่งในหลายจังหวัด เช่น มุกดาหาร และนครพนม

สำหรับพายุเซินติญ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการระบุว่า ขณะนี้ได้อ่อนกำลังจากพายุโซนร้อนเป็นพายุดีเปรสชั่นแล้ว แต่จะยังคงส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอยู่ โดยเฉพาะภาคอีสานในวันนี้ และภาคเหนือในวันพรุ่งนี้

รายการบล็อกของฉัน