ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

เฮราคลีออน เมืองใต้น้ำลึกลับ

(Heracleion) 
เฮราคลีออน เมืองใต้น้ำลึกลับของชาวไอยคุปต์
ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมืองหลวงของอียิปต์โบราณยุคกรีก-โรมัน ราว 32 กิโลเมตร คืออดีตที่ตั้งของเมืองท่าซึ่งมีชื่อว่า “เฮราคลีออน” (Heracleion)
ที่เคยรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในช่วงยุคปลายของอียิปต์โบราณ 
เฮโรโดตัส (Herodotus) บิดาแห่งประวัติศาสตร์ 
ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล เล่าถึงตำนานของเมืองอันแสนรุ่งเรืองนี้เอาไว้ว่า พระนางเฮเลน (Helen) กับเจ้าชายปารีส (Paris) แห่งทรอย (Troy) เคยเดินทางมาเยือนนครแห่งนี้ในช่วงก่อนหน้ายุคสงครามโทรจัน (Trojan War) นอกจากนั้นสตราโบ (Strabo) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกก็ได้บันทึกถึงเมืองลึกลับนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยว่าในขณะนั้นยังไม่เคยมีใครค้นพบหลักฐานที่จับต้องได้จริงของนครเฮราคลีออนสักที นักอียิปต์วิทยาในยุคแรกจึงเชื่อกันว่า เมืองลึกลับที่ว่านี้น่าจะเป็นนครที่ปรากฏอยู่เพียงแค่ในพงศาวดารเท่านั้น ไม่น่าจะเป็นเมืองโบราณที่มีตัวตนอยู่จริงแต่อย่างใด
เฮราคลีออนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอเล็กซานเดรีย ปัจจุบันจมอยู่ใต้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่มาของภาพ

ทว่า หลักฐานที่ค้นพบจากการขุดค้นของทีมนักโบราณคดีใต้น้ำ นำโดย แฟรงค์ กอดดิโอ (Franck Goddio) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 บริเวณชายฝั่งที่เรียกว่า “คาโนปัส” (Canopus) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอเล็กซานเดรียก็ได้ทำให้นักโบราณคดีหลายท่านต้องเปลี่ยนความคิดกันขนานใหญ่ เพราะข้อมูลที่ทีมของกอดดิโอได้ค้นพบบ่งบอกว่า เฮโรโดตัสและสตราโบไม่ได้ปั้นน้ำเป็นตัว เมืองท่าริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือของอียิปต์นั้นมีอยู่จริง เพียงแค่มัน “จมลงไปใต้น้ำ” ตั้งแต่เมื่อพันกว่าปีก่อนแล้วเท่านั้นเอง!!
จารึกของฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 ค้นพบที่เฮราคลีออนพูดถึงการเก็บภาษีเรือสินค้า โดยมีชื่อเมืองเฮราคลีออนเขียนด้วยอักษรภาพอียิปต์โบราณปรากฏอยู่ที่มุมซ้ายบนของข้อความจารึก ที่มาของภาพ

เฮราคลีออนรุ่งเรืองอยู่ตั้งแต่เมื่อประมาณศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล หลักฐานทางโบราณคดีที่ทีมของกอดดิโอขุดค้นมากว่า 20 ปี ได้เปิดเผยให้เห็นว่า นครแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าที่สำคัญของเมดิเตอร์เรเนียน เรือจำนวนมหาศาลจากต่างแดนล้วนแวะเข้ามาแลกเปลี่ยนสินค้าที่เฮราคลีออน ซึ่งมีท่าเรือขนาดใหญ่เอาไว้รองรับกิจกรรมทางการค้าเหล่านี้ นอกจากนั้นหลักฐานทางโบราณคดียังทำให้เราได้ทราบว่า นอกจากเฮราคลีออนจะโดดเด่นด้านการค้าแล้ว เมืองนี้ยังมีวิหารขนาดใหญ่สำหรับบูชาจอมเทพอมุน (Amun) ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หลักของชาวไอยคุปต์ตั้งอยู่ด้วย
นักโบราณคดียังค้นพบทองคำจำนวนมากใต้ท้องทะเล อันเป็นที่ตั้งดั้งเดิมของเมืองเฮราคลีออน บ่งบอกเป็นนัยว่า หายนะของนครแห่งนี้น่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนพวกเขาไม่อาจขนของมีค่าหนีได้ทัน ที่มาของภาพ

แต่หลังจากที่นครแห่งนี้รุ่งเรืองขึ้นมาได้ราวหนึ่งพันหกร้อยปี หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 หายนะที่นักโบราณคดีในยุคแรกยังไม่ทราบแน่ชัดก็ได้ลบเฮราคลีออนออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นครแห่งนี้จึงหลงเหลืออยู่เพียงแค่ในตำนานที่เล่าขานผ่านพงศาวดาร รวมทั้งบันทึกของเหล่านักเดินทาง และนักประวัติศาสตร์ อย่างเช่น เฮโรโดตัสหรือสตราโบเท่านั้น

แต่หลังจากที่ทีมนักโบราณคดีใต้น้ำของกอดดิโอได้ “คืนชีพ” เฮราคลีออนขึ้นมาอีกครั้ง สิ่งที่พวกเขาต้องการทราบมากที่สุดก็คือ สาเหตุที่ทำให้นครแห่งนี้ต้องถึงกาลอวสาน และจมลงไปใต้ทะเลเช่นนี้ แน่นอนว่า ภัยพิบัติที่เฮราคลีออนเคยเผชิญต้องไม่ธรรมดาเป็นแน่ ว่าแต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นคืออะไรกัน!?
รูปสลักขนาดยักษ์ของฟาโรห์แห่งไอยคุปต์ที่ช่างศิลป์ชาวอียิปต์โบราณแกะสลักเอาไว้อย่างงดงาม ที่มาของภาพ

การขุดค้นทางโบราณคดีใต้น้ำริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อหาสาเหตุการล่มสลายของนครแห่งนี้ ได้ทำให้ทีมงานของกอดดิโอมั่นใจว่า เมืองที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำแห่งนี้ต้องเป็นเฮราคลีออนอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาค้นพบหลักฐานของท่าเรือ สมอเรือ และเศษซากเรือดึกดำบรรพ์ที่อับปางอยู่มากมายหลายชิ้น ประกอบกับมีการค้นพบแผ่นศิลาจารึก

จากสมัยของฟาโรห์เนคทาเนโบที่ 1 (Nectanebo I) แห่งราชวงศ์ที่ 30 เมื่อประมาณ 350 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งพูดถึง “การประกาศภาษีต่อเรือสินค้าต่างชาติทุกลำที่เดินทางมายังแม่น้ำไนล์” อีกทั้งยังปรากฏชื่อเมืองเฮราคลีออนในจารึกด้วย นั่นจึงทำให้จินตนาการตามได้ไม่ยากเลยว่า การเก็บภาษีของเรือต่างชาติที่เข้ามาค้าขายก็น่าจะทำให้เฮราคลีออนมั่งคั่งไม่น้อยเลยทีเดียว
รูปสลักเทพเจ้าอียิปต์โบราณ
ขนาดยักษ์ของเฮราคลีออนที่ทีม
นักโบราณคดีใต้น้ำกู้ขึ้นมาได้ ที่มาของภาพ

อีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เฮราคลีออนคือเมืองที่มั่งคั่งก็คือ บรรดาสมบัติ โดยเฉพาะ “ทองคำ” ที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำ นักโบราณคดีค้นพบเหรียญทำจากทองคำจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีภาชนะที่ทำจากทองคำอีกหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่เมืองนี้จะจมลงสู่ก้นสมุทรนั้น ชาวนครเฮราคลีออนต้องเป็นผู้มีอันจะกิน พวกเขามีความสามารถในด้านงานศิลป์ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาวไอยคุปต์ในยุครุ่งเรือง ด้วยว่านักโบราณคดีค้นพบเทวรูปขนาดยักษ์ของเทพเจ้า ทั้งโอซิริส (Osiris) ไอซิส (Isis) และฮาปี (Hapi) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ได้รับการสลักเสลาอย่างประณีต และที่โดดเด่นก็คือ รูปสลักที่ค้นพบใต้ท้องทะเลบางรูป ยังแสดงให้เห็นถึงศิลปะผสมระหว่างกรีกกับอียิปต์อย่างชัดเจนอีกด้วย หลักฐานทางโบราณคดีจากใต้น้ำที่ทำให้ทีมของกอดดิโอเริ่มเห็นภาพของหายนะแห่งเฮราคลีออนคือ เหรียญจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine)

ซึ่งเป็นเหรียญที่ริเริ่มใช้งานในสมัยที่อิสลามเข้ามามีบทบาทในนครแห่งนี้ เหรียญที่ค้นพบได้สื่อเป็นนัยว่าเฮราคลีออนน่าจะจมลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับนครแห่งนี้จะต้องถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ไม่ให้ชาวเมืองได้ตั้งตัวกันเลยทีเดียว เพราะไม่เช่นนั้น ชาวเมืองก็ควรที่จะเก็บของมีค่า และวางแผนหนีออกจากเมืองไปก่อนแล้ว ไม่ทิ้งภาชนะและเหรียญที่ทำจากทองคำอันมีค่าเอาไว้ให้ทีมของกอดดิโอค้นพบได้ง่ายๆ เช่นนี้แน่
รูปสลักบางรูปที่ค้นพบใต้เมดิเตอร์เรเนียน เช่น เทพเจ้าเซราพิสองค์นี้ แสดงให้เห็นศิลปะแบบกรีกอย่างชัดเจน ที่มาของภาพ

แล้วสาเหตุที่เฮราคลีออนถูกทะเลกลืนกินล่ะคืออะไร? สำหรับคำถามนี้ทีมงานของกอดดิโอก็ค้นพบหลักฐานเพียงพอที่จะทำให้สรุปถึงสาเหตุได้บ้างแล้วเช่นกัน นั่นก็คือ ซากของอาคารและรูปปั้นส่วนหนึ่งในเฮราคลีออนที่จมอยู่ในผืนทรายใต้ท้องทะเลนั้นล้มลงไปในทิศทางเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า น่าจะเกิดจาก“แผ่นดินไหว”

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน นักโบราณคดีทราบเป็นอย่างดีว่า ในบริเวณนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ขึ้นหลักๆ ถึงสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 365 ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 749 สอดคล้องกับช่วงเวลาที่หลักฐานทางโบราณคดีเสนอว่า เฮราคลีออนน่าจะจมลงไปใต้สมุทรด้วยเช่นกัน

แต่ถึงอย่างนั้นนักโบราณคดีส่วนใหญ่ก็เสนอว่า แผ่นดินไหวเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถจมนครลงไปใต้น้ำอย่างรวดเร็วได้... 
แต่ตัวการที่แท้จริงน่าจะเกิดมาจากปรากฏการณ์ “แผ่นดินกลายสภาพเป็นของเหลว” (Liquefaction) เสียมากกว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดจากแรงดันน้ำที่อยู่ระหว่างช่องว่างของเม็ดทรายริมชายฝั่งทะเลได้เพิ่มสูงขึ้น น้ำจึงเข้าไปแทนที่อากาศ และสลายการเกาะตัวกันของเม็ดทรายจนพื้นทรายไถลตัวอย่างต่อเนื่องคล้ายของเหลว
(Heracleion) 
ด้วยเหตุนี้เฮราคลีออนที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่ต่างจากไม้หลักปักเลน และในที่สุดก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวลงสู่ท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปิดฉากมหานครที่แสนมั่งคั่งแห่งนี้ไปตลอดกาล

รายการบล็อกของฉัน