ค้นหา
Custom Search
อีริค ฟอน ดานิเก้น (Erich von Däniken) คือหนึ่งในนักสมคบคิดผู้สนับสนุนทฤษฎีพระเจ้าจากอวกาศ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่โด่งดังอย่าง “ราชรถของพระเจ้า” (Chariots of the Gods) ที่พยายามเชื่อมโยงโบราณสถานแปลกประหลาดของโลกโบราณเช่นพีระมิดในอียิปต์ หรือลายเส้นนาซกาในประเทศเปรูเข้ากับการมีอยู่จริงของมนุษย์ต่างดาว แต่แน่นอนว่าสำหรับนักโบราณคดี แนวคิดของดานิเก้นไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะถ้าว่ากันตามหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจโบราณสถานลึกลับหลายแห่งของโลกโบราณก็จริง
แต่การจะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับมนุษย์ต่างดาวก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันเช่นกัน นักโบราณคดีและนักวิจัยเรื่องลึกลับจึงถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ถ้าอ้างอิงตามดานิเก้นแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ลายเส้นนาซกาในอเมริกาใต้เท่านั้นที่เขาเชื่อมโยงเข้ากับมนุษย์ต่างดาว
เพราะว่าอีกหนึ่งโบราณสถานที่มีความลึกลับจนทำให้ดานิเก้นเสนอว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าจากอวกาศเช่นกันก็คือนครโบราณที่มีชื่อว่า “ติอาวานาโก” (Tiawanaco) และโบราณสถานในบริเวณนั้นซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “พูมาพุงคู” (Puma Punku) นั่นเอง
นครติอาวานาโกตั้งอยู่ในประเทศโบลิเวีย (Bolivia) อยู่สูงขึ้นมากว่าระดับน้ำทะเลถึงเกือบ 4 กิโลเมตร หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า เมืองนี้มีความเก่าแก่ราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล
โบราณสถานที่โดดเด่นในติอาวานาโกคือ พีระมิดอคาปานา (Akapana) วิหารคาลาซาซายา (Kalasasaya) ประตูสุริยะ (Gateway of the Sun) และรูปสลักขนาดยักษ์ที่ว่ากันว่าหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับรูปสลักโมอาย (Moai) บนเกาะอีสเตอร์ ส่วนโบราณสถานที่ชวนให้นักโบราณคดีฉงนฉงายได้มากที่สุดก็คือเจ้า “พูมาพุงคู” นี่เอง
ถ้าว่ากันตามชื่อแล้ว “พูมาพุงคู” มีความหมายว่า “ประตูแห่งเสือพูมา” (Doorway of the Puma)
ซึ่งโด่งดังและเป็นที่รู้จักด้วยกลุ่มโบราณสถานหินที่สร้างขึ้นมาอย่างประณีตบรรจง มีร่องรอยการตัดที่เรียบเนียนมาก จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าชนโบราณทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์เช่นนี้ได้อย่างไรกัน
อีกทั้งหินแต่ละก้อนที่นำมาเรียงต่อกันเป็นกลุ่มอาคารนั้นก็จะเรียงแนบชิดติดกันอย่างพอดิบพอดีจนมีคนเปรียบเปรยว่าใบมีดโกนก็ยังไม่สามารถสอดเข้าไประหว่างรอยต่อของหินทั้งสองก้อนได้
ซึ่งความพิศวงตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความน่าทึ่งของเหล่าบรรพชนแห่งดินแดนอเมริกาใต้ได้เป็นอย่างดี และความสามารถที่ดู “เหนือมนุษย์” เช่นนี้เองที่ทำให้ดานิเก้นเชื่อมโยงพูมาพุงคูเข้ากับแนวคิดเรื่อง “พระเจ้าจากอวกาศ” ส่งผลให้ผู้สนับสนุนทฤษฎีดังกล่าวถึงกับเสนอว่า ฝีมืองานหินที่เยี่ยมยอดเหล่านี้จะต้องเป็นฝีมือของมนุษย์ต่างดาว หรือไม่ก็ชาวทวีปแอตแลนติส (Atlantis) ที่สาบสูญเป็นแน่แท้
กองหินลึกลับที่ถูกทิ้งเอาไว้ในพูมาพุงคูมีขนาดใหญ่จนต้องตั้งคำถามว่า เดิมทีมันเคยทำหน้าที่อะไรและชนโบราณสลักมันพร้อมทั้งขนย้ายมันมาได้อย่างไร
ถึงแม้ว่าความเก่าแก่ของนครติอาวานาโกจะสามารถย้อนกลับไปได้ถึงเพียงแค่ประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล แต่หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า นครแห่งนี้รุ่งเรืองอยู่ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 400 ถึง ค.ศ. 500 เท่านั้น ซึ่งก็นับว่าไม่ได้เก่าแก่มากเท่าใดนัก
แต่นักโบราณคดีไม่ทราบรายละเอียดของพูมาพุงคูขณะรุ่งเรือง จึงไม่สามารถอธิบายได้ว่ากองหินที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนั้น เคยทำหน้าที่ใดในอดีตมาก่อนกันแน่
นักโบราณคดีจึงเสนอว่า พูมาพุงคูน่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของนครติอาวานาโก เป็นศูนย์กลางการแสวงบุญในดินแดนแถบเทือกเขาแอนดีส
ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสวรรค์และโลก สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพูมาพุงคูคือกองหินแตกหักมากมายหลายชิ้น ที่น่าทึ่งที่สุดชิ้นหนึ่งคือหินทรายสีแดงก้อนมหึมา ที่มีขนาดกว้างยาวประมาณ 8 X 5 ตารางเมตร มีความหนาเฉลี่ยประมาณหนึ่งเมตร เมื่อลองคิดคำนวณน้ำหนักของหินก้อนนี้จากปริมาตรดังกล่าวแล้วก็จะพบว่ามันมีน้ำหนักมากถึง 131 ตัน คำถามคือชนโบราณแห่งติอาวานาโกขนย้ายมันมาด้วยวิธีการใดกันแน่!?
ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสวรรค์และโลก สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพูมาพุงคูคือกองหินแตกหักมากมายหลายชิ้น ที่น่าทึ่งที่สุดชิ้นหนึ่งคือหินทรายสีแดงก้อนมหึมา ที่มีขนาดกว้างยาวประมาณ 8 X 5 ตารางเมตร มีความหนาเฉลี่ยประมาณหนึ่งเมตร เมื่อลองคิดคำนวณน้ำหนักของหินก้อนนี้จากปริมาตรดังกล่าวแล้วก็จะพบว่ามันมีน้ำหนักมากถึง 131 ตัน คำถามคือชนโบราณแห่งติอาวานาโกขนย้ายมันมาด้วยวิธีการใดกันแน่!?
นักโบราณคดีเสนอว่า เหมืองหินที่ชาวติอาวานาโกใช้ขุดหินทรายสีแดงเหล่านี้อยู่ห่างออกไปจากบริเวณพูมาพุงคูประมาณ
10 กิโลเมตรส่วนหินก้อนเล็กกว่าที่เอาไว้ใช้ในการตัดหินและขุดร่อง เจาะรู ต่างๆ ก็นำมาจากอีกแหล่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 90 กิโลเมตรริมฝั่งทะเลสาบติติคาคา
ซึ่งนักโบราณคดีเสนอว่า ชาวติอาวานาโกทำการขนย้ายหินก้อนเล็กๆ เหล่านี้ด้วยการล่องทะเลสาบมาทางเรือที่สร้างขึ้นจากต้นกก เมื่อเรือเทียบฝั่งแล้วจึงค่อยๆ ชักลากก้อนหินมายังพูมาพุงคูโดยใช้เชือกที่ทำจากขนของตัวลามะ (Llama) ประกอบกับการใช้ทางลาดเพื่อช่วยให้ขนย้ายก้อนหินได้สะดวกยิ่งขึ้น
หินรูปตัว H ในพูมาพุงคูที่แกะสลักมาได้ใกล้เคียงกันจนสามารถวางแทนกันได้แนบสนิทพอดีอย่างน่าทึ่ง ที่มาของภาพ
อีกหนึ่งคำถามที่นักโบราณคดียังไม่สามารถตอบอย่างชัดเจนได้ก็คือ ชาวติอาวานาโกสกัดร่องและเจาะรูต่างๆ ได้ด้วยวิธีใด ด้วยว่าหินบางก้อนในพูมาพุงคูนั้นมีร่องรอยของการสกัดออกเป็นร่องยาว ซึ่งร่องที่ว่ามานี้ก็มีขนาดเล็ก มีความยาวและความลึกที่เท่ากันตลอดทั้งแนว นอกจากนั้นในร่องหินเหล่านี้ยังได้รับการเจาะรูเล็กๆ เอาไว้โดยที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดจากนักโบราณคดีมาบอกกล่าวได้ว่า
บรรพชนแห่งติอาวานาโกทำงานหินที่ละเอียดอ่อนและประณีตบรรจงเช่นนี้ได้อย่างไรกัน?
หินแกรนิตจากพูมาพุงคูบางก้อนได้รับการเซาะร่องและเจาะรูขนาดเท่ากันอย่างน่าทึ่ง จนก่อให้เกิดคำถามว่าชนโบราณทำงานหินที่ประณีตเช่นนี้ได้อย่างไร ที่มาของภาพ
หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความน่าทึ่งในงานหินของชาวติอาวานาโกมากที่สุดคือ ก้อนหินรูปตัว H หลายต่อหลายชิ้นที่สลักเสลาพื้นผิวจนเรียบ โดยที่สามารถเชื่อมต่อหินรูปตัว H เช่นนี้หลายๆ รูปเข้าด้วยกันได้อย่างง่ายดาย รูปทรงและเหลี่ยมมุมต่างๆ ถูกสกัดออกด้วยเครื่องมือที่เมื่อมองด้วยตาเปล่าแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะรังสรรค์ขึ้นได้โดยใช้เพียงแค่อุปกรณ์ยุคโบราณ
อีกทั้งเมื่อมองดูที่การออกแบบก้อนหินแต่ละชิ้นแล้ว จะพบว่าชาวติอาวานาโกจะต้องมีการวางแผนในการสกัดหินเหล่านี้เอาไว้อย่างละเอียด เพราะพบว่าหินรูปตัว H แต่ละก้อนนั้นมีขนาดที่ใกล้เคียงกันมากจนถึงขนาดที่ว่าสามารถนำมาใช้วางแทนตำแหน่งของกันและกันได้เลยทีเดียว นั่นจึงทำให้หินรูปตัว H สองก้อนสามารถเชื่อมต่อกันได้พอดิบพอดีโดยไม่ต้องใช้ปูนขาวหรือซีเมนต์มาช่วยในการยึดเกาะเลยแม้แต่น้อย
อุปกรณ์ที่ใช้ช่วยในการยึดหินสองก้อนให้ติดกันอย่างมั่นคงมีเพียงแค่การบากร่องหินเป็นรูปตัว T หรือตัว I แล้ววางหมุดยึดทำจากทองแดงลงไปก็เท่านั้นเอง
น่าเสียดายที่ชาวติอาวานาโกก็ไม่ต่างจากชนเผ่าอินคาที่ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง นั่นจึงทำให้นักโบราณคดีไม่ทราบเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของชาวติอาวานาโกมากนัก ถึงแม้ว่านักโบราณคดีจะยังไม่สามารถอธิบายวิธีการสร้างสรรค์งานหินของชาวติอาวานาโกในพูมาพุงคูได้โดยละเอียด
แต่ก็คงจะเกินจริงไปหน่อยถ้าจะบอกว่า แนวคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาวที่ดานิเก้นเสนอเอาไว้นั้นถูกต้อง เพราะผู้รังสรรค์โบราณสถานลึกลับเหล่านี้ขึ้นมานั้นก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นบรรพชนผู้ยิ่งใหญ่แห่งติอาวานาโกในโบลิเวียนี่เอง