ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ไขปริศนาคัมภีร์มรกต องค์ความรู้ลึกลับของชาวไอยคุปต์

เชื่อกันว่าเทพเจ้าธอธผู้มีเศียรเป็นนกกระสาองค์นี้คือผู้ถ่ายทอดศาสตร์ลึกลับเอาไว้ในคัมภีร์มรกต
ค้นหา
Custom Search
🔜ไขปริศนาคัมภีร์มรกต องค์ความรู้ลึกลับของชาวไอยคุปต์(?)
ทุกวันนี้ถ้าเราลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณในโลกออนไลน์ เรามักจะพบว่ากระแสของข้อมูลแตกออกเป็นสองสายหลักๆ สายแรกพูดถึงศาสตร์ของอียิปต์โบราณในมุมมองของ “อียิปต์วิทยา” (Egyptology) ซึ่งหมายถึงการศึกษาดินแดนไอยคุปต์จากมุมมองของโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจชาวอียิปต์โบราณในทุกแง่มุมตั้งแต่พวกเขากินอยู่กันอย่างไร มีความเชื่อแบบไหน งานทางด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่เพียงใด การติดต่อค้าขาย สังคมการเมืองการปกครอง รวมทั้งเรื่องราวในชีวิตประจำวันเพื่อจำลองภาพของชาวไอยคุปต์ในอดีตออกมาให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดจากหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลืออยู่ 

แต่ถึงอย่างนั้นข้อมูลอีกกระแสหนึ่งก็พยายามที่จะนำเสนอในเรื่องของ “ความลึกลับ” ซึ่งเรียกศาสตร์นี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Khemitology มาจากชื่อในภาษาอียิปต์โบราณว่า “kmt” หรือ “เคเมต” หมายถึง “แผ่นดินสีดำ” อันเป็นชื่อเรียกของอาณาจักรอียิปต์ในอดีตนั่นเอง
แบบจำลองของคัมภีร์มรกตที่เชื่อกันว่าเก็บรักษาศาสตร์ความรู้ลึกลับดึกดำบรรพ์เอาไว้ ที่มาของภาพ

สิ่งที่กระแส Khemitology พยายามค้นคว้าและนำเสนอมักจะเกี่ยวข้องกับความลี้ลับและศาสตร์พิศวงของอียิปต์ เช่นพลังพีระมิดหรือไม่ก็พยายามที่จะเชื่อมโยงอียิปต์โบราณเข้ากับอาณาจักรดึกดำบรรพ์ที่เชื่อกันว่าสาบสูญไปแล้วอย่างแอตแลนติส (Atlantis) ตามตำนานของเพลโต (Plato) ที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของทวีปแห่งนี้ลงไปในแผนที่โลกได้
ประเด็นที่เราจะมาคุยกันในวันนี้ไม่ใช่ 

Egyptology ทว่าเป็น Khemitology เราจะมาพูดถึงคัมภีร์ที่เชื่อกันว่าบรรจุความลับของจักรวาลเอาไว้ อีกทั้งยังได้รับการรังสรรค์โดยเทพเจ้าธอธ (Thoth) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความเฉลียวฉลาดของชาวไอยคุปต์อีกด้วย เรารู้จักคัมภีร์ลึกลับชิ้นนั้นกันในชื่อ “คัมภีร์มรกต” (Emerald Tablets) ถ้าว่ากันตามกระแสของกลุ่มที่ศึกษาด้าน Khemitology แล้ว คัมภีร์มรกตนี้มีความเก่าแก่ถึงสามหมื่นแปดพันปี!! เรียกได้ว่าร่วมสมัยกับอาณาจักรแอตแลนติสเลยก็ว่าได้ คัมภีร์นี้ได้เก็บงำความรู้เกี่ยวกับพีระมิดดึกดำบรรพ์ที่น่าทึ่งเอาไว้ มีการเสนอกันว่าผู้ที่เขียนคัมภีร์มรกตนี้ขึ้นมาก็คือชาวแอตแลนติสโบราณที่มีนามว่า “โธท” หรือ “เฮลมอส” 

ซึ่งได้ไปสร้างอาณานิคมของแอตแลนติสเอาไว้ในดินแดนอียิปต์โบราณ และโธทนี่เองที่เป็นคนรังสรรค์มหาพีระมิดแห่งกิซ่า หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณขึ้นมาเมื่อราวหมื่นกว่าปีก่อน หาใช่ฟาโรห์คูฟู (Khufu) อย่างที่นักอียิปต์วิทยาเสนอกันไม่ นอกจากสร้างพีระมิดแล้วโธทยังได้ฝังความรู้โบราณเอาไว้ใต้องค์พีระมิดอีกด้วย ว่ากันว่าคัมภีร์สีเขียวสดใสนี้ทำจากมรกตเขียนด้วยภาษาฟินิเชียน มีทั้งหมด 12 แผ่นร้อยเข้าไว้ด้วยกัน

โดยใช้ห่วงที่ทำจากทองคำ และเมื่อประมาณ 1,300 ปีก่อนคริสตกาล ได้เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในอียิปต์ 
กลุ่มนักบวชชาวไอยคุปต์จึงตัดสินใจย้ายคัมภีร์มรกตจากองค์พีระมิดไปไว้ที่อารยธรรมมายาในทวีปอเมริกาซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาณานิคมของแอตแลนติส แต่บางตำนานก็บอกว่าคัมภีร์นี้ถูกค้นพบในถ้ำของประเทศศรีลังกา ทว่าอีกตำนานหนึ่งกลับเสนอว่า เปล่าเลย 

คัมภีร์นี้อยู่ในถ้ำใต้รูปสลักของเฮอร์เมสในทีอานา (Tyana) ประเทศตุรกีต่างหากเล่า เรียกได้ว่าตำนานจากทางสาย Khemitology เองก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันสักเท่าไร
😄ภาพวาดของคัมภีร์มรกตจากจินตนาการของศิลปินในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มาของภาพ

แต่ก่อนจะปวดศีรษะกันไปมากกว่านี้ คำถามก็คือแล้วข้อมูลของกลุ่ม Khemitology นี้เชื่อถือได้แค่ไหนกัน จริงๆแล้วถึงไม่ต้องมองด้วยสายตาของนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์ ก็น่าจะต้องรู้สึกแปลกๆกับที่มาของคัมภีร์มรกตกันบ้าง เพราะในปัจจุบันเรายังสรุปไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าแอตแลนติสจะมีจริงหรือไม่ และจะเคยไปตั้งอาณานิคมในประเทศต่างๆจริงไหม รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในอียิปต์ก็ไม่เคยมีชิ้นใดที่หักล้างแนวคิดที่ว่าคูฟูเป็นเจ้าของมหาพีระมิดแห่งกิซ่าไปได้เลย 

ดังนั้นถ้าถามหาหลักฐานทางโบราณคดีที่จะมาสนับสนุนแนวคิดเรื่องตำนานของคัมภีร์มรกตนั้นก็ต้องบอกว่าแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว

แล้วโบราณคดีให้คำตอบอะไรเกี่ยวกับคัมภีร์มรกตที่ว่ากันว่าเก็บรักษาองค์ความรู้ลี้ลับของพีระมิดแห่งไอยคุปต์ได้บ้างล่ะ? คำตอบก็คือหลักฐานแรกสุดที่อ้างอิงได้เกี่ยวกับการมีตัวตนอยู่จริงของคัมภีร์มรกตนี้สามารถสืบกลับไปได้เพียงแค่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 ในเอกสารที่เขียนขึ้นด้วยภาษาอาหรับที่มีชื่อว่า “คัมภีร์ของความลับแห่งการสร้างสรรค์และศิลปะแห่งธรรมชาติ” เท่านั้น เอกสารชิ้นนี้อ้างอิงถึงบุคคลชื่อ “บาลินุส” (Balinus) 

ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกับอพอลโลนิอุสแห่งทีอานา (Apollonius of Tyana) ที่เป็นผู้ค้นพบคัมภีร์มรกตในถ้ำแห่งหนึ่ง เอกสารชิ้นนี้ทำให้มีการเสนอกันว่าบางทีองค์ความรู้ในคัมภีร์มรกตอาจจะเพิ่งถูกรวบรวมขึ้นมาโดยชาวอาหรับในช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 8 ก็เป็นได้

แต่ถ้าอ้างอิงตามบุคคลนามว่าบาลินุสแล้ว เขากล่าวว่าเอกสารต้นฉบับของคัมภีร์มรกตนี้เขียนด้วยภาษากรีก และด้วยความลึกลับของเนื้อหาในคัมภีร์จึงทำให้ข้อความในต้นฉบับที่บาลินุสค้นพบได้รับการแปลออกไปในหลายภาษาโดยเฉพาะในแถบยุโรป พอมาถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาลาตินด้วย ทว่าน่าเสียดายที่เอกสารต้นฉบับที่ว่านี้ไม่หลงเหลือหลักฐานมาให้คนปัจจุบันได้ยลโฉม
😅เอกสารจากคริสต์ศตวรรษที่ 17 เชื่อมโยงคัมภีร์มรกตเข้ากับศาสตร์แห่งการเล่นแร่แปรธาตุ ที่มาของภาพ

คัมภีร์มรกตเปรียบเสมือนเสาหลักของวิชาเล่นแร่แปรธาตุในยุคกลางและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา เพราะขนาดเซอร์ ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์คนดังก็ยังเคยแปลคัมภีร์มรกตนี้ไว้ในเอกสารเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุของเขาด้วยเช่นกัน ปัจจุบันเอกสารฉบับแปลของนิวตันได้รับการเก็บรักษาเอาไว้ในห้องสมุดคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ส่วนในประเทศไทยของเรานั้นก็มีผู้ที่นำคัมภีร์มรกตมาแปลเป็นฉบับภาษาไทยอ่านกันง่ายๆ แล้วด้วยเช่นกัน

ในขณะที่คัมภีร์มรกตได้รับการแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก แต่นักโบราณคดีก็ยังไม่สามารถหาที่มาที่ไปของคัมภีร์สุดแสนลึกลับชิ้นนี้ได้ เพราะตอนนี้หลักฐานทางโบราณคดีที่เรามีในมือกลับไม่สอดรับกับมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาซึ่งอ้างอิงไปถึงอาณาจักรลึกลับที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอยู่จริง ประกอบกับความคลุมเครือขององค์ความรู้ที่เก็บรักษาเอาไว้ในคัมภีร์มรกตที่อาจจะสามารถตีความได้หลายรูปแบบ จึงทำให้ในปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ลี้ลับดึกดำบรรพ์นี้ได้อย่างถ่องแท้เลยสักรายเดียว

สุดท้ายไม่ว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นศาสตร์โบราณที่สาบสูญไปแล้วจริงหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความพิศวงของมันสามารถดึงดูดความสนใจจากมนุษยชาติมาได้ยาวนานถึงพันกว่าปี และตราบเท่าที่ความจริงยังไม่ถูกเปิดเผย ความลี้ลับแห่งคัมภีร์มรกตนี้ก็น่าจะยังคงอยู่ในกระแสนิยมของคนในเจเนอเรชั่นถัดไปอีกนานแสนนาน

รายการบล็อกของฉัน