ย้อนรอยตำนานเมืองลับแลเมืองโบราณดงละครจังหวัดนครนายก
วันนี้เราก็จะมานำเสนอเรื่องของเมืองโบราณตำนานในประเทศไทยนะครับ
เกี่ยวกับเมืองโบราณดงละครหรือเมืองลับแลอะไรก็ไม่รู้แล้วแต่จะพูดกันไปมันจะอะไรเหรอครับมันก็วกไปวนมาเรื่องภูตผีปีศาจหรือไม่อย่างนั้นกับตำนานอะไรต่างๆนาๆวกไปวนมา
สุดท้ายแล้วก็ไปจบที่ประวัติศาสตร์ต่างๆที่จะอ้างถึง ประวัติศาสตร์ความเป็นมาต่างๆมันมีที่มาที่ไปเสมอก็แล้วแต่คนจะเชื่อนะครับถ้ามีหลักการอ้างอิงก็พอจะเชื่อถือได้ถ้าพูดปากเปล่าเล่าต่อกันมามันก็เป็นเพียงตำนานแค่นั้นล่ะครับวันนี้เลยนำเสนอเรื่องนี้ครับ
เมืองโบราณดงละคร อยู่ตำบลดงละคร ห่างจากตัวเมือง 9 กิโลเมตรไปตามทางหลวงหมายเลข 3076 เลี้ยวขวาเข้าไป 6 กิโลเมตร ผ่านวัดเจดีย์ทอง แล้วเลี้ยวทางไปวัดดงละคร เดิมเรียกว่า “เมืองลับแล”
เป็นสถานที่ตั้งเมืองโบราณสมัยทวาราวดีและขอม เนินดินดงละครหรือดงใหญ่มีพื้นที่ 6 ตารางกิโลเมตร ภายในมีเมืองโบราณหรือดงเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่ อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันตกของเนินดิน
มีคันดินเป็นกำแพง 2 ชั้นเรียกว่า “สันคูเมือง” และมีคูน้ำล้อมรอบภายในเมืองน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นปกครอง ส่วนประชาชนตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ในบริเวณที่ลุ่มรอบเมืองความรุ่งเรืองแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเริ่มพุทธศตวรรษที่ 14-16 เป็นวัฒนธรรมแบบทวาราวดี
ช่วงที่สองพุทธศตวรรษที่ 17-19 เป็นวัฒนธรรมขอม และวัฒนธรรมก่อนอยุธยาพุทธศตวรรษที่ 19 ชาวบ้านดงละครคงจะอพยพไปตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำสายหลักในจังหวัดนครนายก
สันนิษฐานว่าน่าจะมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเมืองศรีมโหสถที่จังหวัดปราจีนบุรีเพราะเมืองทั้งสองอยู่ห่างกันเพียง 55 กิโลเมตร โบราณวัตถุที่ค้นพบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ภาชนะเคลือบสีฟ้า ลูกปัด แก้วลูกปัดหิน เบี้ยดินเผาแผ่นตะกั่วตุ้มหูแหวนและกำไลสัมฤทธิ์แผ่นทองคำ เศียรพระพุทธรูปกะไหล่ทอง และสถูปศิลาแลง ตามตำนานกล่าวว่า “เมืองโบราณดงละคร”
เคยเป็นเมืองของราชินีขอมซึ่งเป็นที่รโหฐาน และบริเวณเมืองมีต้นไม้สูงขึ้นอยู่ทั่วไปหากคนนอกเข้าไปแล้วจะหาทางออกไม่ได้ในวันโกน และวันพระจะได้ยินเสียงกระจับปี่ ซอ ปี่พาทย์มโหรีขับกล่อมคล้ายกับมีการเล่นละครในวังจึงเรียกกันว่า “ดงละคร” หรือคำว่า “ดงละคร” อาจเพี้ยนมาจาก “ดงนคร” ก็ได้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478