ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

อิสลาม กับ รูปภาพศาสดามูฮัมหมัดถือเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาตลอดมาหรือไม่

อิสลาม กับ รูปภาพศาสดามูฮัมหมัดถือเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาตลอดมาหรือไม่

การวาดภาพศาสดาในศาสนาอิสลาม แม้จะเป็นภาพที่สื่อถึงความเคารพ นับเป็นประเด็นถกเถียงที่ซับซ้อนว่านี่จะถือเป็นเรื่องที่ห้ามทำในศาสนาอิสลามหรือไม่

สำหรับชาวมุสลิมส่วนใหญ่ นี่คือสิ่งต้องห้าม โดยมองว่าจะต้องไม่มีการวาดภาพศาสดามูฮัมหมัด หรือศาสดาคนอื่น ๆ ในศาสนาอิสลามอย่างเด็ดขาด เพราะภาพวาดและรูปปั้นนั้นส่งเสริมให้มีการบูชารูปปั้นรูปเขียน

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามในหลายพื้นที่ของโลกอิสลาม ในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะในศาสนาอิสลามมักแสดงออกมาในรูปทรง เรขาคณิต, ลวดลายวิจิตร หรือตัวอักษรต่าง ๆ มากกว่าจะสื่อออกมาในรูปของบุคคล

แม้ชาวมุสลิมหลายคนจะอ้างอิงถึงถ้อยคำในคัมภีร์อัลกุรอานที่ในตอนหนึ่งกล่าวถึงอับราฮัม หรือ อิบรอฮีม ที่ระบุว่า การบูชารูปเคารพเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ โมนา ซิดดิกี จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ชี้ว่า คัมภีร์อัลกุรอานไม่มีเนื้อหาที่ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามการวาดภาพขององค์ศาสดา แต่ความคิดนี้มาจาก "หะดีษ" ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและคำสอนของศาสดามูฮัมหมัดที่มีการรวบรวมไว้หลังจากเขาเสียชีวิตลง

ศาสตราจารย์ ซิดดิกี อธิบายว่า มีภาพศาสดามูฮัมหมัดจำนวนมากปรากฏอยู่ในผลงานของศิลปินชาวมุสลิมมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิมองโกลและจักรวรรดิออตโตมัน

ผลงานเหล่านี้บางชิ้นแม้จะมีการปิดบังใบหน้าของศาสดามูฮัมหมัด แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นที่สื่ออย่างชัดเจนว่าเป็นศาสดามูฮัมหมัด ศาสตราจารย์ ซิดดิกี ระบุว่า ภาพวาดเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเลื่อมใสศรัทธา

"คนส่วนใหญ่วาดภาพเหล่านี้ด้วยความรักและความเคารพ ไม่ได้มีเจตนาที่จะบูชารูปเขียน" เธอกล่าว

แล้วการวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดกลายเป็นสิ่งต้องห้ามตั้งแต่เมื่อใดกัน

รองศาสตราจารย์ คริสติอาน กรูเบอร์ อาจารย์ด้านศิลปะอิสลามจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐฯ ระบุว่า ภาพวาดศาสดามูฮัมหมัดจำนวนมากที่มีอายุเก่าแก่ย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ 1300 ส่วนใหญ่เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นสำหรับเก็บไว้ดูเป็นการส่วนตัว เพื่อป้องกันการถูกมองว่าเป็นการเคารพบูชารูปปั้นรูปเขียน

"ในแง่หนึ่ง พวกมันถือเป็นของหรูหรา บางชิ้นอยู่ในห้องสมุดของเหล่าชนชั้นนำ" เธอกล่าว พร้อมอธิบายว่า บางชิ้นอยู่ในรูปของภาพวาดขนาดจิ๋วที่เป็นอักขระในศาสนาอิสลาม

ศิลปะอิสลามส่วนใหญ่มีลวดลายทรงเรขาคณิตดังที่ปรากฏบนเพดานมัสยิดแห่งนี้ในนครดูไบ

อาจารย์ด้านศิลปะอิสลามผู้นี้ระบุว่า การมาถึงของสื่อสิ่งพิมพ์ในศตวรรษที่ 18 ตลอดจนการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมและแนวคิดของชาวยุโรปมีส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวมุสลิมมองภาพวาดของศาสดาเป็นสิ่งต้องห้าม

เธอระบุว่า ชาวมุสลิมในยุคนั้นต้องการเน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างศาสนาของตนกับศาสนาคริสต์ โดยใช้ศิลปะเชิงสัญลักษณ์ทางสังคม ส่งผลให้ภาพวาดศาสดามูฮัมหมัดเริ่มหายไป

อย่างไรก็ตาม อิหม่าม การี อาซิม แห่งมัสยิดลีดส์เมกกะ หนึ่งในมัสยิดใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยชี้ว่า "หะดีษ" ที่มีคำสั่งห้ามการวาดภาพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้น ส่งผลให้การวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดเป็นสิ่งต้องห้ามไปโดยปริยาย

นายอาซิมระบุว่า แม้จะมีการวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดในยุคกลาง แต่ก็เป็นสิ่งนักวิชาการด้านศาสนาอิสลามทั้งหลายต่อต้านอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันก็ยังไม่ชัดเจนว่าศิลปะหลายชิ้นในยุคนั้นเป็นภาพที่สื่อถึงศาสดามูฮัมหมัด

ศาสตราจารย์ ฮิวจ์ ก็อดเดิร์ด ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาอิสลามในโลกร่วมสมัยแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ระบุว่า ข้อห้ามการสร้างรูปปั้นและงานศิลปะที่มีรูปทรงสามมิติดูเหมือนจะมีความชัดเจนมากกว่าภาพวาด

ขณะที่นายฮัสซัน ยูเซฟี เอชกาวารี อดีตผู้นำศาสนาอิสลามในอิหร่าน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในเยอรมนี ระบุว่า ข้อห้ามการวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดไม่ได้ครอบคลุมไปทุกหนแห่ง เพราะดูเหมือนว่าชาวมุสลิมนิกายชีอะห์จะมีมุมมองที่ต่างออกไป

เขาเล่าให้บีบีซีฟังว่า ปัจจุบันชาวอิหร่านจำนวนไม่น้อยมีภาพศาสดามูฮัมหมัดแขวนไว้ในบ้าน โดยที่ไม่มีข้อห้ามใด ๆ ตามหลักศาสนาหรือในเชิงวัฒนธรรม ภาพวาดลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปตามร้านค้า โดยไม่ถือเป็นการกระทำที่ลบหลู่ดูหมิ่นแต่อย่างใด

แม้ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีและชีอะห์จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน แต่รองศาสตราจารย์ กรูเบอร์ ชี้ว่า การอ้างว่าศาสนาอิสลามมีข้อห้ามวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีตนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด

ทว่าชาวมุสลิมจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดย ดร.อัสซัม ทามิมิ อดีตผู้บริหารสถาบันความคิดทางการเมืองอิสลามบอกกับบีบีซีว่า แม้คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ระบุถึงข้อห้ามนี้ แต่มันก็เป็นที่ยอมรับจากองค์กรฝ่ายปกครองอิสลามทั้งหลายว่า การวาดภาพศาสดามูฮัมหมัดและศาสดาคนอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ เนื่องจากพวกเขาเป็นบุคคลผู้ไม่มีข้อผิดพลาด เป็นบุคคลตัวอย่าง ดังนั้นจึงไม่ควรสร้างสิ่งของที่เป็นตัวแทนไม่ว่าจะในลักษณะใดที่อาจนำไปสู่การลบหลู่ดูหมิ่นได้

ดร. ทามิมิ ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ว่า การมีภาพวาดศาสดามูฮัมหมัดในยุคกลางนั้นเป็นการบ่งชี้เป็นนัยว่าไม่มีข้อห้ามเด็ดขาดเรื่องการวาดภาพศาสดา โดยเขาชี้ว่า "หากภาพดังกล่าวมีอยู่จริง นักวิชาการด้านอิสลามก็คงออกมาตำหนิแล้วเช่นกัน

รายการบล็อกของฉัน