แรร์เอิร์ธ (Rare Earth Elements) กลุ่มของธาตุหายากที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกเทคโนโลยีในขณะนี้ เนื่องจากราคาของธาตุเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศที่มีธาตุเหล่านี้ไว้ครอบครอง สามารถต่อรองกับประเทศอื่น ๆ ได้ ซึ่งในประเทศไทยเราก็มีธาตุชนิดนี้เหมือนกันครับ
แรร์เอิร์ธ จากเหมืองในแคลืฟอร์เนีย
แรร์เอิร์ธคืออะไร ? คือกลุ่มของธาตุโลหะ 17 ชนิด ได้แก่ กลุ่มธาตุแลนธาไนด์ 15 ชนิด, สแกนเดียม (Sc) และ อิทเทรียม (Y) เหตุที่ตั้งชื่อว่าแรร์เอิร์ธ ที่หมายถึงธาตุหายากนั้น เพราะช่วงแรกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันมีอยู่ในปริมาณน้อย แต่ในช่วงหลังตรวจพบว่ามันสามารถหาเจอได้ง่ายกว่าที่คิด
ทว่าแม้จะพบเจอได้ง่าย แต่พวกมันกลับอยู่กระจัดกระจาย (ไม่เหมือนการทำเหมืองธาตุชนิดอื่นที่มักรวมอยู่ที่เดียว) ทำให้ประเทศนั้น ๆ ต้องสร้างเหมืองขึ้นหลายแห่ง อีกทั้งกระบวนการในการถลุงธาตุออกมาจากแร่นั้นทำได้ยากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่งผลให้ธาตุมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย นี่จึงกลายเป็นนิยามของธาตุหายากในแง่ของการทำให้มันอยู่ในรูปที่พร้อมใช้งานครับ
เหมืองแรร์เอิร์ธขนาดใหญ่ในประเทศจีน
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Investing News เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 เผยว่า ประเทศจีนสามารถผลิตธาตุแรร์เอิร์ธได้มากที่สุดในโลก อยู่ที่ 140,000 เมตริกตัน ส่วนสหรัฐฯ นั้นผลิตแรร์เอิร์ธได้ 38,000 เมตริกตัน นับว่ามีปริมาณน้อยกว่าจีนมากเลยทีเดียว
คำถามสำคัญ : ทำไมการได้ครอบครองแรร์เอิร์ธจะทำให้เป็นมหาอำนาจของโลก ? ตอบ : เนื่องจากเป็นธาตุสำคัญของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, กล้องดิจิทัล แม้กระทั่งชิ้นส่วนในรถยนต์ Tesla ก็ต้องใช้แรร์เอิร์ธในการผลิตด้วย เรียกได้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 90% จะต้องใช้แรร์เอิร์ธในการผลิตทั้งสิ้น ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่มนุษย์ขาดไม่ได้เลย นั่นหมายความว่า หากประเทศใดครอบครองแรร์เอิร์ธมากที่สุด ก็จะสามารถควบคุมตลาดหรือความต้องการของคนทั้งโลกได้นั่นเอง (ตราบใดที่ยังไม่มีวัสดุทดแทนล่ะก็นะ)
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยเองมีปริมาณการผลิตธาตุแรร์เอิร์ธอยู่ที่ 2,000 เมตริกตัน จัดอยู่ในอันดับ 8 ของโลก ขณะยังไม่ทราบว่าในประเทศเรานั้นมีแรร์เอิร์ธอยู่มากน้อยขนาดไหน แต่จากอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2018 ที่ผลิตได้ 1,000 เมตริกตัน เชื่อว่าในไทยยังมีธาตุแรร์เอิร์ธที่รอการสำรวจอยู่แน่นอนครับ
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงชิ้นส่วนยานยนต์ ต้องพึ่งพาธาตุแรร์เอิร์ธ
และก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ตอนนี้สหรัฐฯและจีนกำลังทำสงครามการค้ากันอย่างหนักหน่วง ซึ่งหากเกิดสงครามการค้าที่เกี่ยวข้องกับแรร์เอิร์ธขึ้นมา สหรัฐฯ อาจต้องพิจารณาหาทางเลือกอื่น ๆ
โดยเฉพาะการพึ่งพาธาตุจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีน อาจจะเป็นออสเตรเลีย, บราซิล, เมียนมาร์, เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย
(ซึ่งก็หวังว่ามันจะไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นนะครับ)