กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยไวรัสวิทยา VECTOR และมหาวิทยาลัย North-Eastern Federal ที่ตั้งอยู่ในเมืองยาคุตสค์ (หนึ่งในเมืองที่หนาวที่สุดในโลกของรัสเซีย) เพื่อร่วมกัน “ปลุกชีพสกัดเชื้อไวรัส” จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ในซากสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุราว 50,000 ปี ซึ่งซากเหล่านี้ถูกแช่แข็งอยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัย VECTOR ดร. Olesya Okhlopkova ได้กล่าวว่า “การสกัดเชื้อไวรัสมีจุดประสงค์เพื่อต้องการระบุตัวไวรัสและศึกษาลำดับการวิวัฒนาการ โดยการจัดลำดับข้อมูลทางพันธุกรรมผ่านข้อมูลทางชีวภาพ”
เธอยังกล่าวอีกว่า “ถ้ากรด Nucleic ไม่ถูกทำลาย เราจะสามารถรับรู้ข้อมูลในองค์ประกอบของมันและสามารถระบุได้ว่ามันมีการวิวัฒนาการเป็นอย่างไร”
หัวหน้าพิพิธภัณฑ์แมมมอธ ดร. Maxim Cheprasov ได้กล่าวว่า “ในเบื้องต้นเราได้มีการวิเคราะห์เนื้อเยื่ออ่อนที่สกัดจากซากม้าดึกดำบรรพ์ที่มีอายุราว 4,500 ปี โดยซากดังกล่าวถูกค้นพบเมื่อปี 2009 ในสาธารณรัฐซาคา ซึ่งเป็นเขตการปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย”
นักวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์แมมมอธ ดร. Sergey Fedorov ได้กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์แมมมอธของเรามีความร่วมมือกับศูนย์วิจัย VECTOR มาอย่างยาวนาน เราหวังว่าพวกเขาจะค้นพบสิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับไวรัส”
ตัวอย่างซากแมมมอธขนดกอายุกว่า 32,200 ปี ที่ถูกขุดพบทางตอนเหนือของไซบีเรียเมื่อปี 2013 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะสามารถสกัด "ไวรัสโบราณ" จากพวกมันได้
นอกเหนือจากซากม้า นักวิทยาศาสตร์จะทำการศึกษาไวรัสเพิ่มเติมจากซากแมมมอธ กระซู่ สุนัข กระต่ายป่า และสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่นๆที่คาดว่ามีอายุมากสุดถึง 50,000 ปี
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เหล่าผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไวรัสวิทยาได้เตือนว่า “การขุดซากสัตว์ดึกดำบรรพ์เพื่อสกัดเชื้อไวรัสก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อเกิดการแพร่โรคระบาดได้”
.
ในไม่กี่ปีมานี้ทางศูนย์ VECTOR ได้พยายามศึกษาหาวิธีรักษาโรคต่างๆด้วยวิธีการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น กาฬโรค ไวรัสตับอักเสบ-B
HIV SARS และมะเร็ง
และในขณะนี้ทางศูนย์วิจัย VECTOR ยังเป็นผู้พัฒนาวัคซีนต้านไวรัส Covid-19 ที่มีชื่อว่า EpiVacCorona ซึ่งมีแผนจะเริ่มผลิตวัคซีนในปลายเดือนนี้ด้วยเช่นกัน