ดีเอ็นเอชี้ แรดขนยาวอาจสูญพันธุ์เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ถูกมนุษย์ล่า
ผลการศึกษาดีเอ็นเอของแรดขนยาว (woolly rhino) สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปจากแถบไซบีเรีย ในยุคน้ำแข็งเมื่อราว 14,000 ปีที่แล้ว แท้จริงอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เพราะถูกมนุษย์ล่า
แรดขนยาว เคยมีชีวิตอยู่บริเวณตอนเหนือของทวีปเอเชียและยุโรป โดยฟอสซิลเก่าแก่ที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์ขุดค้นพบในทิเบต เป็นของแรดขนยาวที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 3.6 ล้านปีก่อน
ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าแรดขนยาว สูญพันธุ์จากน้ำมือมนุษย์ แต่ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดของทีมนักวิจัยจากศูนย์พันธุศาสตร์บรรพชีวิน (Center for Paleogenetics) ในสวีเดน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology พบหลักฐานที่หักล้างความเชื่อดังกล่าว
หุ่นจำลองที่สร้างขึ้นจากซากที่แห้งเป็นมัมมี่ของลูกแรดขนยาววัย 7 เดือน ที่พบในไซบีเรียเมื่อปี 2015 ถูกตั้งชื่อให้ว่า "ซาช่า"
ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ดีเอ็นเอจากฟอสซิลกระดูก เนื้อเยื่อที่แห้งเป็นมัมมี่ และเส้นขนของแรดขนยาวจากไซบีเรีย จำนวน 14 ตัว ที่มีอายุตั้งแต่ 14,100 - 50,000 ปี
ผลการศึกษาพบว่า ประชากรแรดขนยาวอยู่ในระดับคงที่อยู่นานหลายพันปีหลังจากมนุษย์ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียเมื่อราว 30,000 ปีก่อน ซึ่งนี่บ่งชี้ว่า การล่าของมนุษย์ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์โบราณชนิดนี้ต้องสูญพันธุ์ลง
ศาสตราจารย์ลูเว ดอเลียน หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า "ช่วงเวลาที่แรดขนยาวมีจำนวนลดลงไปสู่การสูญพันธุ์นั้น ไม่สอดคล้องกับการเข้าไปอยู่อาศัยของมนุษย์กลุ่มแรก ๆ ในภูมิภาคนั้น อันที่จริงเราพบว่าพวกมันมีประชากรเพิ่มขึ้นในช่วงนั้นด้วยซ้ำ"
ขณะที่ เอดอนา ลอร์ด นักศึกษาปริญญาเอกที่ร่วมงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ช่วงที่แรดขนยาวสูญพันธุ์ตรงกับช่วงที่โลกมีอากาศอุ่นขึ้นผิดปกติ ที่เรียกว่า Bølling oscillation และ Allerød oscillation นี่จึงบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นตัวการหลักที่ทำให้แรดขนยาวสูญพันธุ์ เนื่องจากอากาศที่อบอุ่นและชื้นแฉะขึ้นอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพืชผักที่เป็นอาหารของสัตว์โบราณชนิดนี้ และอาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตพวกมัน
นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังพบว่า แรดขนยาวมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง แม้แต่ในช่วงที่ใกล้จะสูญพันธุ์ก็ตาม และยังพบว่า แรดขนยาวสามารถปรับตัวให้เข้ากับการดำรงชีวิตในสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดี เพราะมีการกลายพันธุ์ในระดับยีนที่ทำให้ตัวรับความรู้สึกหนาวเย็นที่ผิวหนังมีความไวน้อยลง ช่วยให้พวกมันทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดีขึ้น
"นี่บ่งชี้ว่าการสูญพันธุ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก บางทีอาจภายในระยะเวลาไม่กี่ร้อยปี" ศ.ดอเลียน กล่าว
หลังจากนี้ ทีมวิจัยหวังว่า จะทำการศึกษาว่าภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นในยุคนั้นได้ส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อเหล่าสรรพสัตว์อย่างไรบ้าง