ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

นักวิจัยยุโรปริเริ่มโครงการโอเดอร์ยูโรปา สร้างกลิ่นจากอดีตกลับขึ้นมาใหม่


ภาพวาดเลืองชื่ออย่าง "โมนา ลิซา" สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทั่วโลกให้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส

ลองนึกดูสิว่าจะเป็นอย่างไรหากนอกจากได้ชมภาพของเลโอนาร์โด ดาวินชี แล้ว คุณสามารถ "ได้กลิ่น" ฉากหลังของภาพจากต้นศตวรรษที่ 16 ของอิตาลีด้วย

การไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์อย่างสนุกสนานมากขึ้นเป็นหนึ่งในเป้าหมายของทีมผู้เชี่ยวชาญในยุโรปที่จะใช้เวลาสามปีต่อจากนี้พยายามค้นหาและสร้าง "กลิ่นที่สำคัญที่สุดในทวีป" ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ขึ้นมาใหม่

โครงการโอเดอร์ยูโรปา (Odeuropa) ได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรปราว 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญราว 20 คน ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ ผู้ผลิตน้ำหอม นักเคมี และนักคอมพิวเตอร์ ที่พยายามจะสร้างสารานุกรมแห่งมรดกด้านกลิ่น (Encyclopaedia of Smell Heritage)

พวกเขาจะใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างกลิ่นต่าง ๆ ที่ปัจจุบันอาจปรากฏอยู่ในรูปของคำบรรยายในวรรณกรรมให้เป็นจริงขึ้นมา

โบราณคดีด้านกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญอยากจะสร้างกลิ่นเมืองในอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่

"โครงการนี้เป็นการค้นหาข้อมูลเรื่องกลิ่นในอดีต" อิงเกอร์ ลีแมนส์ นักประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมชาวเนเธอร์แลนด์ หัวหน้าโครงการนี้ บอกกับบีบีซี

"กลิ่นเป็นตัวกำหนดประสบการณ์ที่เรามีในโลกนี้ แต่เรามีข้อมูลเรื่องความรู้สึกในแง่นี้จากในอดีตน้อยมาก ...นอกจากนี้ กลิ่นเป็นสิ่งที่มีความเปราะบางมาก มักถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว เราเลยต้องคิดกันว่าจะเก็บรักษามันได้อย่างไร"

โครงการนี้จะเริ่มต้นในเดือนมกราคมปีหน้า และผู้เชี่ยวชาญจะค้นคว้าเรื่องกลิ่นที่ถูกพูดถึงในหนังสือ เอกสารทางประวัติศาสตร์ งานศิลปะ และสิ่งของที่พิพิธภัณฑ์เก็บสะสมไว้ โดยจะใช้ระบบอัลกอริทึมในการวิเคราะห์การพูดถึงกลิ่นใน 7 ภาษาด้วยกัน

นักวิจัยจะใช้เอกสารทางประวัติศาสตร์ในการอ้างอิงหากลิ่นในอดีตด้วย อย่างในเอกสารชิ้นนี้ อัมสเตอร์ดัมถูกบรรยายไว้ว่าเป็นดั่ง "สาวบริสุทธิ์ที่สวยแต่ปากเหม็น"

วิลเลียม ทัลเล็ต นักประวัติศาสตร์ด้านกลิ่นจากมหาวิทยาลัยแองเกลีย รัสกิน ซึ่งร่วมทำงานในโครงการนี้ด้วย บอกว่า โควิด-19 ทำให้คนเราเข้าใจว่าประสาทสัมผัสด้านการได้กลิ่นสำคัญแค่ไหน ยกตัวอย่างการสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นที่เป็นอาการหนึ่งหลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

"เราอยากจะทำให้เห็นว่ากลิ่นเป็นส่วนประกอบสำคัญของประสบการณ์มนุษย์ และก็อยากจะบันทึกสิ่งนั้นไว้"

แต่คนเราจะได้กลิ่นจากอดีตได้อย่างไรกัน

กลิ่นของเมือง ลีแมนส์ บอกว่า มีหลายวิธีที่จะย้อนไปหากลิ่นของสิ่งต่าง ๆ ในอดีต ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีหากลิ่นของวัตถุทางประวัติศาสตร์ด้วยการสกัดชิ้นส่วนออกมาจากวัตถุนั้น ๆ แล้วมาวิเคราะห์ดูโครงสร้างทางเคมี

นอกจากนี้ ยังมีวิธีหากลิ่นโดยใช้การตีความโดยอาศัยสภาวะทางประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ ด้วย

"คุณสามารถลงรายละเอียดได้ตั้งแต่กลิ่นลาเวนเดอร์ไปจนถึงกลิ่นของอากาศในเมืองหนึ่ง" นักวิชาการชาวเนเธอร์แลนด์ผู้นี้กล่าว

ความรู้ชุดนี้จะถูกนำไปใช้ในขั้นตอนสุดท้ายของโครงการโอเดอร์ยูโรปา นักเคมีและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหอมจะช่วยกันสร้างกลิ่นจากอดีตขึ้นมาใหม่และจะถูกนำไปใช้ในงานจัดแสดงพิเศษในพิพิธภัณฑ์ที่ต่าง ๆ ในยุโรป 

เราจะได้ทราบไหมว่ากลิ่นของพระนางมารี อ็องตัวแน็ตต์ เป็นอย่างไร 

คาโร เวอร์บีค นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวเนเธอร์แลนด์ก็เป็นสมาชิกทีมอีกคนหนึ่ง เธอเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ด้านประสาทสัมผัส และเป็นภัณฑารักษ์ที่ทำงานด้านการสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมได้กลิ่นในงานจัดแสดงมานาน 20 ปี โดยล่าสุดเป็นการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม เมื่อปี 2015 ที่มีการสร้างกลิ่นขึ้นมาเพื่อประกอบภาพ "ยุทธการที่วอเตอร์ลู"(The Battle of Waterloo) โดยจิตรกร ยัน วิลเลิม พีนเนอร์มาน จากปี 1824

"เราใช้กลิ่นดินปืนผสมกับกลิ่นโคลน ม้า และหนัง โดยผู้เข้าชมจะได้กลิ่นจากแท่งน้ำหอมที่ติดตั้งไว้" เวอร์บีค อธิบาย

"มันเปลี่ยนวิธีรับรู้งานศิลปะของคนโดยสิ้นเชิงเลย เป็นการเปิดโอกาสให้คนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นให้สัมผัสคุณค่าของงานศิลปะ ลองนึกถึงคนตาบอดเป็นต้น"

เวอร์บีค เชื่อว่า โครงการโอเดอร์ยูโรปา จะช่วยทำให้ประสบการณ์ในการชมศิลปะเต็มอิ่มมากขึ้น

"จะมีคนสามารถได้กลิ่นประวัติศาสตร์ได้มากขึ้นอีก ...กลิ่นที่เปลี่ยนไปทำให้มรดกที่เรามีอยู่ในสภาพเปราะบาง ตอนนี้ถึงเวลาที่เราจะจับมันให้อยู่ แล้วก็สร้างมันขึ้นมาใหม่"

รายการบล็อกของฉัน