เพื่อนๆ เคยได้ยินเรื่องราวของโบราณสถานชื่อ “หลุมฝังศพแห่งไซรัส” (Tomb of Cyrus) กันมาก่อนไหม นี่คือสิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่ในใจกลางประเทศอิหร่าน
มีชื่อเสียงไม่เพียงแต่ในฐานะของหลุมฝังศพโบราณเท่านั้น แต่ที่แห่งนี้ยังเชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย
หลุมฝังศพแห่งไซรัสเชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บร่างของ กษัตริย์ไซรัสที่สอง ผู้มีชื่อเสี่ยงในฐานะผู้ก่อตั้งจักรวรรดิเปอร์เซียและหนึ่งในผู้มีแนวคิดที่คล้ายกับระบบสิทธิมนุษยชน
ที่แห่งนี้เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาราวๆ 559-529 ปีก่อนคริสตกาล โดยถูกสร้างขึ้นบนฐานทำจากบล็อกหินอ่อนซ้อนกันหลาย 6 ชั้น ซึ่งมีลักษณะการสร้างที่ต่างๆ กันไป เพื่อให้เกิดโครงสร้างที่ทนทานกับแผ่นดินไหวอย่างไม่น่าเชื่อ
ในชั้นล่างของฐานสิ่งปลูกสร้างคนสมัยก่อนจะมีการใช้หินผสมกับปูนเพื่อเป็นฐาน ในขณะที่ชั้นบนจะทำจากบล็อกที่เชื่อมเข้าด้วยกันด้วยแท่งโลหะ
ส่งผลให้ฐานชั้นบนสามารถเลื่อนไปมาบนฐานชั้นล่างได้ และ “คาดว่า” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลุมฝังศพแห่งไซรัสสามารถทนทานต่อเหตุแผ่นดินไหวมาได้ยาวนานกว่า 2,500 ปี
ที่นักโบราณคดียังไม่ฟันธงข้อมูลในจุดนี้ เป็นเพราะว่าแม้เราจะมีหลักฐานว่าที่แห่งนี้สามารถรอดจากแผ่นดินไหวมาได้หลายครั้งแล้ว
แต่ที่ผ่านมาเรากลับยังไม่เคยพบหลักฐาน (อย่างรอยเลื่อน) ที่ชี้ชัดเลยว่าส่วนฐานของสิ่งก่อสร้างเป็นสิ่งที่ทำให้สุสานแห่งนี้ทนทานต่อแผ่นดินไหวจริงๆ
และหากจะว่ากันตามตรงแล้ว นักโบราณคดีหลายๆ คนก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าที่แห่งนี้เป็นที่ที่กษัตริย์ไซรัสที่สองถูกนำร่างมาฝังไว้จริงๆ หรือไม่
อ้างอิงจากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ “Arrian of Nicomedia” ผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารของอเล็กซานเดอร์มหาราช
เขาและอเล็กซานเดอร์ทำการค้นพบที่แห่งนี้ไม่นานหลังจากการโจมตีเมืองแพร์ซโพลิส โดยในหลุมศพพวกเขาพบกับเตียงทองคำ ชุดโต๊ะ ภาชนะเครื่องดื่มหรู และโลงศพทองคำประดับด้วยอัญมณีมีค่า
Arrian of Nicomedia อ้างว่าบนโลงศพที่พวกเขาพบ มีการจารึกข้อความที่บ่งบอกว่านี่เป็นโลงศพของกษัตริย์ไซรัสที่สอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันจารึกข้อความเหล่านี้ได้หายไปหมดแล้ว
เป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นจากการที่ในเวลาต่อมา อเล็กซานเดอร์ได้กลับมาทำการบูรณะที่แห่งนี้ เนื่องจากมันถูกปล้นหลังจากที่เขาพบหลุมศพเป็นครั้งแรก
แต่ไม่ว่าที่แห่งนี้จะเป็นหลุมฝังศพของกษัตริย์ไซรัสจริงๆ หรือไม่ เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โบราณสถานแห่งนี้สู้ทนต่อสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายของพื้นที่มาเป็นเวลานานจริงๆ และมันจะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่คู่กับประเทศอิหร่านไปอีกนานแสนนานเลย