ค้นหา
Custom Search
ก่อนหน้านี้เคยมีการพบร่องรอยของแป้งธัญพืชบนก้อนหินมีอายุมากถึง 30,000 ปี แต่นั่นก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้อบขนมปังกินกันแล้ว แต่การค้นพบครั้งล่าสุดนี้คือหลักฐานที่ชัดเจนและเก่าแก่ที่สุด มีการค้นพบเศษขนมปังที่แหล่งโบราณคดี Shubayqa 1 ในประเทศจอร์แดน มีอายุถึง 14,400 ปี
แหล่งโบราณคดีนี้เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของพวก Natufian ที่เป็นมนุษย์นักล่า-เก็บพืชผลเมื่อราว 15,000-11,000 ปีก่อน มีอาคารโบราณ 2 หลังแต่ละหลังมีเตาไฟอยู่ด้วย การขุดค้นซึ่งทำในระหว่างปี 2012 – 2015 ได้พบกับเศษซากอาหารที่ถูกย่างเหลือค้างอยู่ในเตาไฟ รวมทั้งเครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ และเศษซากพืช
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนได้วิเคราะห์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่ามันคือการทำขนมปังอย่างชัดเจน
“ผลวิเคราะห์จาก 24 ตัวอย่างในงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าธัญพืชป่าที่เป็นต้นตระกูลของข้าวบาเลย์และข้าวโอ๊ตถูกบด ร่อนตะแกรง และนวดก่อนนำมาปรุงอาหาร” Amaia Arranz Otaegui หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “เศษซากที่หลงเหลืออยู่คล้ายกับขนมปังแบน (Flat Bread) ที่พบในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่และยุคโรมันในยุโรปและตุรกีมากๆ
ดังนั้นตอนนี้เราจึงรู้แล้วว่าขนมปังถูกทำขึ้นมานานก่อนที่จะมีการเพาะปลูก”
ในช่วงเวลาดังกล่าวการทำขนมปังจะใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทั้งการเอาเปลือกออก การบด การนวดแป้ง และการอบ ทีมวิจัยกล่าวว่าสิ่งนี้อาจนำไปสู่อาหารที่ถูกมองว่ามีความพิเศษ และความต้องการที่จะทำมันให้มากขึ้นอาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่จะตั้งถิ่นฐานและทำการเพาะปลูกธัญพืช
“เป็นไปได้ว่าการผลิตขนมปังจากธัญพืชป่าที่ใช้เวลามากเป็นพิเศษนี้อาจเป็นแรงผลักดันสำคัญเบื้องหลังการวิวัฒนาการของการเกษตรซึ่งนำเอาธัญพืชป่ามาเพาะปลูกเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารที่สะดวกมากขึ้นในเวลาต่อมา” ...
Tobias Richter นักโบราณคดีหัวหน้าทีมขุดค้นกล่าว
นักวิจัยกล่าวว่าพวกเขาวางแผนที่จะศึกษาการทำขนมปังยุคแรกเริ่มและอาหารอย่างอื่นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อพิจารณาว่าขนมปังเป็นตัวกระตุ้นให้เปลี่ยนไปทำการเพาะปลูกโดยรวมหรือไม่