การขุดพบโบราณสถานของนักโบราณคดีแต่ละครั้ง ย่อมนำมาซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องในอดีตได้เป็นอย่างดี และล่าสุดนักโบราณคดีของอิรักที่ทำงานร่วมกับนักโบราณของอังกฤษ ก็ต้องพบกับหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นใหม่ที่โลกต้องจารึก เพราะพวกเขาได้ขุดพบกับเมืองโบราณที่อยู่ทางตอนเหนือของอิรัก และที่สำคัญเมืองแห่งนี้ได้หายสาบสูญจากแผนที่โลกไปกว่า 2,000 ปีที่แล้ว
สำหรับการขุดพบเมืองโบราณในครั้งนี้ เป็นผลงานจากความร่วมมือกันของนักโบราณคดีจากอิรักและนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งนำทีมโดยผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษ ในกรุงลอนดอน โดยภารกิจนี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เมื่อปี 1960 กองทัพสหรัฐฯ ได้เปิดเผยภาพถ่ายทางดาวเทียมในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก และในภาพปรากฎซากปรักหักพังมากมายที่คาดว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณในอดีต ดังนั้นนักโบราณคดีของทั้ง 2 ชาติจึงได้จับมือทำงานร่วมกัน โดยการส่งโดรนขึ้นไปบินสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเก็บข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ จนสุดท้ายก็พบเข้ากับเมืองโบราณอย่างที่ตั้งสมมติฐานกันเอาไว้จริงๆ
โดยนักโบราณคดีได้ขุดพบเมืองโบราณที่หายสาบสูญไปกว่า 2,000 ปีนี้ ได้ที่บริเวณบริเวณเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน ทางตอนเหนือของประเทศอิรัก และระบุว่าเมืองโบราณที่ขุดพบในครั้งนี้ เป็นเมืองที่มีชื่อว่า Qalatga Darband ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในช่วงเวลาประมาณ 331 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้นักโบราณคดียังขุดพบซากปรักหักพังที่คาดว่าเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ และเหรียญกรีก พร้อมทั้งรูปปั้นเทพเจ้ากรีก-โรมัน ในบริเวณที่ขุดพบเมืองโบราณในครั้งนี้อีกด้วย
หนึ่งในทีมนักโบราณคดีชุดนี้เผยว่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำศึกษาและทำความเข้าใจถึงลำดับเหตุการณ์ในอดีต และพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวแม้จะผ่านช่วงเวลามานานแล้ว แต่ก็มีร่องรอยที่บ่งบอกว่าเส้นทางดังกล่าวถูกใช้สำหรับสัญจรไปมาระหว่างอิรักและอิหร่านได้เป็นอย่างดี และสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ต่อไปในอนาคต
Qalatga Darband