ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ผลสแกนด้วยเรดาร์ชี้ไม่มีห้องลับในสุสานตุตันคามุน

ผลสแกนด้วยเรดาร์ชี้ไม่มีห้องลับในสุสานตุตันคามุน
ก่อนหน้านี้นักโบราณคดีมั่นใจถึง 90%ว่า มีห้องลับซ่อนอยู่หลังผนังสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน

กระทรวงโบราณคดีของอียิปต์แถลงว่า ผลการตรวจสอบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนครั้งล่าสุดโดยทีมสำรวจจากอิตาลีได้ผลชี้ชัดว่า ไม่มีห้องลับซ่อนอยู่ด้านหลังผนังสุสานดังกล่าวตามที่เคยสันนิษฐานกันไว้แต่อย่างใด
นายคาเลด อัล อนานี รัฐมนตรีกระทรวงโบราณคดีของอียิปต์ระบุว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยตูรินของอิตาลีได้ใช้เทคนิคการสแกนด้วยเรดาร์เข้าตรวจสอบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) ใกล้เมืองลักซอร์ และพบว่าไม่มีสิ่งใดซ่อนอยู่ ทำให้ทางการอียิปต์ต้องออกมาแถลงยอมรับผลการตรวจสอบดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ทีมสำรวจจากหลายชาติรวมทั้งจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้พยายามเข้าค้นหาร่องรอยของห้องลับที่ว่านี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้ผลสรุปแน่ชัด
เมื่อปี 2015 ทางการอียิปต์และ ดร. นิโคลัส รีฟส์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษระบุว่า มีความมั่นใจถึง 90% ว่ามีห้องที่ไม่เคยถูกสำรวจซ่อนอยู่อีกในสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ซึ่งอาจเป็นห้องเก็บพระศพของราชินีเนเฟอร์ติติที่ยังค้นหากันไม่พบก็เป็นได้
รูปปั้นส่วนพระเศียรของราชินีเนเฟอร์ติติ ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี

ผลวิเคราะห์ภาพสแกนด้วยเลเซอร์ความคมชัดสูงที่มีมาก่อนหน้านั้น ทำให้ ดร. รีฟส์ เชื่อว่าได้พบร่องรอยคล้ายประตูซ่อนอยู่ด้านหลังผนังสุสาน ซึ่งหากห้องลับนี้มีอยู่จริงก็จะช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุนจึงมีขนาดเล็กกว่าของฟาโรห์พระองค์อื่นอย่างมาก ทั้งที่มีสมบัติล้ำค่าฝังรวมอยู่ภายในเกือบ 2,000 ชิ้น
ในขณะนั้น ดร. รีฟส์ เชื่อว่า เมื่อฟาโรห์ตุตันคามุนสิ้นพระชนม์ลง ได้มีการนำพระศพมาเก็บไว้อย่างรีบร้อน โดยสร้างสุสานขึ้นที่ห้องด้านนอกของที่เก็บพระศพเดิมของราชินีเนเฟอร์ติติ ทำให้สุสานมีขนาดเล็กและมีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นที่เก็บพระศพของราชินี ไม่ใช่ของฟาโรห์ที่เป็นชาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่พบห้องลับดังกล่าวทฤษฎีนี้จึงขาดหลักฐานสนับสนุนไป
(Valley of the Kings)
ทั้งนี้ พระนางเนเฟอร์ติติ ซึ่งพระนามมีความหมายว่า "คนงามกำเนิดแล้ว" เป็นราชินีที่เลอโฉมอย่างยิ่งตามหลักฐานที่ปรากฏในรูปปั้นพระเศียรซึ่งทำขึ้นในยุคราว 1,300 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งในยุคดังกล่าวเชื่อกันว่าพระนางปกครองอาณาจักรอียิปต์โบราณร่วมกับพระสวามี และอาจเคยขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์ด้วยตนเอง ก่อนที่ฟาโรห์ตุตันคามุนจะขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา

รายการบล็อกของฉัน