ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ค้นพบเสาโอเบลิสก์ต้นใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักรเก่า

🗼ค้นพบเสาโอเบลิสก์ต้นใหญ่ที่สุด
ในราชอาณาจักรเก่า
ค้นหา
Custom Search
เป็นที่ทราบกันดีว่า เสาโอเบลิสก์ (Obelisk) คือ เสาหินแกรนิตรูปทรงคล้ายเข็มสูงชะลูดขึ้นไปเสียดแทงท้องฟ้า ความหมายของเสาโอเบลิสก์คือ การสื่อถึงสุริยเทพ และเสาโอเบลิสก์ส่วนใหญ่ก็มักจะสร้างถวายแด่เทพเจ้าอมุน-รา (Amun-Ra) หนึ่งในสุริยเทพของชาวไอยคุปต์ด้วยเช่นกัน 

จากหลักฐานทางโบราณคดี นักอียิปต์วิทยาทราบว่า เสาโอเบลิสก์เริ่มต้นสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงสมัยราชวงศ์ที่ 5 ยุคราชอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) 
เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ทว่า เสายุคแรกเริ่มนี้มีลักษณะอ้วนป้อมผิดกับเสาที่เราคุ้นตากันจากวิหารในสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) 

ส่วนเสาโอเบลิสก์ในช่วงราชวงศ์ที่ 6 ก็ไม่ได้ใหญ่โตสูงเสียดฟ้าแต่อย่างใด เพราะว่ามีความสูงเพียงแค่ราวครึ่งเมตรเท่านั้นเอง

แต่เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ทีมนักอียิปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยเจนีวาที่ขุดค้นอยู่ในนครสุสานซัคคารา ณ พีระมิดของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 (Ankhnespepi II) ได้ค้นพบหลักฐานใหม่ของเสาโอเบลิสก์ในสมัยราชอาณาจักรเก่าด้วยว่า เสาที่ทีมนักอียิปต์วิทยาค้นพบนั้นเป็นเสาโอเบลิสก์ที่สลักจากหินแกรนิตสีแดงมีความสูงถึง 2.5 เมตร และชิ้นส่วนที่ค้นพบนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนบนของตัวเสาเท่านั้น

นักอียิปต์วิทยาเสนอว่า เดิมทีเสาต้นนี้จะต้องมีความสูงราว 5 เมตร 
นั่นจึงทำให้เสาโอเบลิสก์ของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 เป็นเสาโอเบลิสก์ที่สูงและใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักรเก่าเลยทีเดียว
ว่าแต่พระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 เป็นใครกัน อังค์เนสเปปิที่ 2 เป็นราชินีของฟาโรห์เปปิที่ 1 (Pepi I) 
ที่ครองราชย์อยู่ในช่วงต้นราชวงศ์ที่ 6 
ราว 2,350 ปีก่อนคริสตกาล เราทราบว่า นางคือมารดาของฟาโรห์เปปิที่ 2 ซึ่งเป็นฟาโรห์ที่นักบวชมาเนโธ (Manetho) ที่เดินเตร็ดเตร่อยู่ในอียิปต์โบราณช่วงราวศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลได้บันทึกเอาไว้ว่า พระองค์ครองราชย์ยาวนานถึง 94 ปี แต่นักอียิปต์วิทยาก็ยังกังขากันอยู่
ว่าบางทีมาเนโธอาจจะบันทึกผิดและตัวเลขที่แท้จริงควรจะอยู่ที่ 64 ปีเท่านั้นเอง
เสาโอเบลิสก์ที่ค้นพบจากพีระมิดของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบมาในราชอาณาจักรเก่า ที่มาของภาพ
อังค์เนสเปปิที่ 2 สร้างสุสานของนางเอาไว้ที่นครสุสานซัคคารา แต่ข้อมูลเกี่ยวกับพีระมิดของนางมีน้อยมาก แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่เสนอเพียงแค่ว่า ห้องฝังศพในพีระมิดของนางมีโลงศพสลักจากหินบะซอลต์วางอยู่ และที่น่าสนใจก็คือ มีคัมภีร์ “จารึกพีระมิด”

☀(Pyramid Texts) ปรากฏในห้องฝังศพของนางด้วยแต่ดูเหมือนว่ารายละเอียดของพีระมิดองค์นี้จากตำราจะมีไม่มากนัก ซึ่งทีมขุดค้นจากมหาวิทยาลัยเจนีวาก็กำลังจะทำความเข้าใจสุสานของนางให้มากขึ้น จากการขุดค้นพบว่า เสาโอเบลิสก์ของนางถูกค้นพบทางทิศตะวันออกของกลุ่มอาคารประกอบพีระมิดของอังค์เนสเปปิที่ 2 ซึ่งไม่ใช่สถานที่ปกติที่มันควรจะอยู่

นักอียิปต์วิทยาจึงเสนอกันว่า บางทีเสาโอเบลิสก์ต้นนี้อาจจะถูกขนย้ายมาจากตำแหน่งเดิมของมันก็คือด้านหน้าทางเข้าวิหารประกอบพิธีศพขององค์พีระมิดก็เป็นได้
นักอียิปต์วิทยาทราบจากรูปแบบการฝังศพในสมัยราชวงศ์ที่ 6 ของเหล่าราชินีว่า พวกนางนิยมตั้งเสา

โอเบลิสก์เอาไว้สองต้นด้านหน้าทางเข้าไปยังวิหารประกอบพิธีศพ แต่ด้วยว่าเสาโอเบลิสก์ต้นนี้ถูกพบห่างออกมาจากตำแหน่งดั้งเดิมของมันพอสมควร จึงเป็นไปได้ว่า มันอาจจะถูกชาวไอยคุปต์ในยุคหลังขนย้ายออกมา ด้วยว่าสุสานในยุคราชอาณาจักรเก่ามักจะถูกชาวอียิปต์โบราณในสมัยราชอาณาจักรใหม่และยุคปลาย (Late Period) ใช้ประหนึ่งเหมืองหิน ทำให้บรรดาศิลาที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์พีระมิดและเสาโอเบลิสก์ก็มักจะถูกนำไป “ใช้ซ้ำ” อยู่บ่อยครั้งเลยทีเดียวพีระมิเดียนของพีระมิดองค์เล็ก
ของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 เดิมทีน่าจะเคยได้รับการประดับไปด้วยโลหะแวววาวสะท้อนแสงเช่นทองคำหรืออาจจะเป็นทองแดง 

จารึกที่ปรากฏอยู่บนด้านหนึ่งของเสาโอเบลิสก์สลักตำแหน่งและพระนามของราชินีอังค์เนสเปปิที่ 2 เอาไว้ ทำให้นักอียิปต์วิทยาทราบว่า เสาหินต้นนี้ต้องเคยเป็นของนางมาก่อนอย่างแน่นอน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของราชินีองค์นี้ก็คือ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่เสนอว่าพีระมิดของนางมีคัมภีร์“จารึกพีระมิด” สลักเอาไว้ภายในด้วย ซึ่งทีมนักอียิปต์วิทยาชุดนี้ก็ได้กล่าวสนับสนุนด้วยว่า 

บางทีอังค์เนสเปปิที่ 2 อาจจะเป็นราชินีองค์แรกที่มี “จารึกพีระมิด” ปรากฏอยู่ในสุสาน เพราะอดีตที่ผ่านมาคัมภีร์เหล่านี้มักจะถูกสงวนเอาไว้สำหรับห้องฝังศพในพีระมิดขององค์ฟาโรห์เท่านั้น แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมามเหสีองค์อื่นๆ ของฟาโรห์เปปิที่ 2 ก็เริ่มมีคัมภีร์ “จารึกพีระมิด” ปรากฏเอาไว้ในห้องฝังศพด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นนักอียิปต์วิทยายังค้นพบร่องรอยบริเวณยอดของเสาโอเบลิสก์ว่า ในอดีตมันน่าจะเคยประดับไปด้วยแผ่นโลหะแวววาว อาจจะทำมาจากทองคำหรือไม่ก็ทองแดง ประดับเอาไว้เพื่อให้สะท้อนแสงอาทิตย์สมกับเป็นเสาหินที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาสุริยเทพอย่างแท้จริง

หลังจากทีมนักอียิปต์วิทยาค้นพบเสาโอเบลิสก์ได้ราว 1 สัปดาห์ พวกเขาก็ได้ออกมาประกาศเพิ่มเติมว่า
มีการค้นพบ “พีระมิเดียน” (Pyramidion) หรือ “ส่วนยอด” ของพีระมิดทำจากหินแกรนิตในพื้นที่ขุดค้นกลุ่มอาคารประกอบพีระมิดของอังค์เนสเปปิที่ 2 ด้วย พีระมิเดียนชิ้นนี้มีความสูงราว 1.3 เมตร และมีขนาดฐานกว้างยาวด้านละประมาณ 1.1 เมตร บริเวณปลายด้านบนของพีระมิเดียนมีร่องรอยแสดงให้เห็นว่า ในอดีตมันน่าจะเคยประดับไปด้วยแผ่นโลหะแวววาวไม่ต่างจากเสาโอเบลิสก์ และโลหะที่ประดับอยู่ก็อาจจะเป็นทองคำหรือทองแดงเช่นกัน นักอียิปต์วิทยาเสนอว่า เดิมทีมันน่าจะเคยเป็นส่วนยอดของ“พีระมิดบริวาร” (Satellite Pyramid) 
ของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 ด้วยว่า ทีมนักอียิปต์วิทยาค้นพบ
พีระมิดเดียนชิ้นนี้ในบริเวณที่พีระมิดบริวารเคยตั้งอยู่ในอดีตนั่นเอง
และล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ทีมนักอียิปต์วิทยากลุ่มเดิมออกมาประกาศการค้นพบบริเวณพีระมิดของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 เพิ่มเติมอีกครั้งว่า พวกเขาเจอรูปสลักส่วนศีรษะของสตรีทำจากไม้ขนาดเท่าคนจริง สูงราว 30 เซนติเมตร คาดกันว่าน่าจะเป็นศีรษะของราชินีองค์นี้ บริเวณหูของรูปสลักไม้นี้มีการแกะสลักเป็นรูปตุ้มหูอย่างงดงาม ทีมนักอียิปต์วิทยากล่าวว่า รูปสลักนี้ถูกค้นพบทางฝั่งตะวันออกขององค์พีระมิดใกล้กับบริเวณที่พวกเขาเจอพีระมิเดียนของอังค์เนสเปปิที่ 2 แต่น่าเสียดายที่รูปสลักชิ้นนี้สภาพไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าใดนัก เพราะผ่านกาลเวลามาร่วม 4,350 ปี ทีมนักอียิปต์วิทยาจึงต้องทำการบูรณะให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำไปศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลเข้าระบบกันต่อไป
หลักฐานทางโบราณคดีจากพีระมิดของพระนางอังค์เนสเปปิที่ 2 ที่เปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ช่วยบอกเป็นนัยว่า ใต้ผืนทรายของอียิปต์ยังคงมีความลับที่รอคอยการเปิดเผยอีกมากมาย และในอนาคตเราอาจจะเข้าใจประวัติของราชินีอังค์เนสเปปิที่ 2 องค์นี้ได้ลึกซึ้งกว่าปัจจุบันอีกโขเลยก็เป็นได้

รายการบล็อกของฉัน