พม่า: ฟอสซิลกิ้งก่าช่วยไขความลับ “ระบบนิเวศโลกล้านปี ”
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าฟอสซิลกิ้งก่าที่พบในก้อนอำพันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกิ้งก่าที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 99 ล้านปีก่อน ทำให้มันกลายเป็นตัวอย่างฟอสซิลกิ้งก่าที่มีอายุมากที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการค้นพบ และเป็นการเชื่อมต่อสิ่งที่ขาดหายไปสำหรับคณะนักวิจัยสัตว์เลื้อยคลาน
นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 เปิดเผยว่า กิ้งก่านี้มีอายุมากกว่ากิ้งก่าที่ครองสถิติเดิมถึง 75 ล้านปี
ฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบในเหมืองแห่งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนพร้อมกับฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานโบราณอื่น ๆ ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่คณะนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะสามารถวิเคราะห์ผลการตรวจพบได้เมื่อไม่นานมานี้
“การได้เห็นสัตว์เหล่านี้ครั้งแรกเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างเหลือเชื่อ” นายเอ็ดเวิร์ด สแตนลีย์ สมาชิกคนหนึ่งของคณะวิจัยกล่าว “มันทั้งน่าตื่นเต้นและประหลาดใจจริง ๆ เมื่อได้เห็นว่าพวกมันถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์อย่างนี้”
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเจ้าสัตว์หน้าตาเหมือนกิ้งก่าคาเมเลียนตัวนี้ยังอยู่ในวัยแรกเกิดตอนที่มันติดกับก้อนยางไม้เหนียวเหนอะหนะขณะที่มันคลานไปตามป่าเขตร้อนชื้นในดินแดนที่เป็นประเทศพม่าในปัจจุบัน
นายสแตนลีย์กล่าวว่าสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กมีลำตัวอ่อนนุ่มและมักจะย่อยสลายอย่างรวดเร็ว การถูกห่อหุ้มในอำพันที่เป็นของแข็งจึงช่วยคงสภาพของตัวอย่างไว้
นายสแตนลีย์และนักวิจัยคนอื่น ๆ ใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์ดิจิตอลความละเอียดสูงเพื่อตรวจสอบสิ่งมีชีวิตที่พบและประมาณอายุของอำพันโดยไม่ต้องทุบให้แตก
นายสแตนลีย์กล่าวว่าการค้นพบจะช่วยให้นักวิจัยสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ระบบนิเวศที่สาบสูญหรือโลกล้านปี” ที่สัตว์เคยมีชีวิตอยู่ และยังอาจช่วยให้นักวิจัยได้รู้จักญาติในยุคปัจจุบันของสัตว์โบราณเหล่านี้ด้วย
“มันเป็นเหมือนกับจุดเชื่อมต่อที่ขาดหายไป”
นายสแตนลีย์กล่าวทิ้งท้าย รอยเตอร์