ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ฟอสซิลยุงตัวแรก ที่มีเลือดอยู่เต็มในท้อง

ไอเดียในภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค ปาร์ค เกี่ยวกับการใช้ฟอสซิลยุงที่มีเลือดไดโนเสาร์อยู่ในท้องเพื่อโคลนนิ่งไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อหลายล้านปีก่อนอาจเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลของยุงที่มีเลือดอยู่ในท้องจริงๆ เป็นครั้งแรก แม้จะไม่ถึงขนาดที่เอามาโคลนนิ่งสร้างสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วได้แบบในภาพยนตร์ แต่การค้นพบนี้ก็ให้ข้อมูลมากมายแก่นักวิทยาศาสตร์            

ในโลกนี้มีแมลงที่กินเลือดอยู่ราว 14,000 สปีชีส์ แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบฟอสซิลของแมลงกลุ่มนี้ไม่มากนัก และส่วนใหญ่การตรวจสอบเพื่อระบุว่าเป็นฟอสซิลแมลงที่กินเลือดเป็นอาหารก็ไม่สามารถทำได้ตรงๆ ต้องอาศัยการอนุมานจากหลักฐานข้างเคียงเช่น รูปร่างลักษณะปากของแมลง จุลินทรีย์ที่พบในระบบทางเดินอาหารอย่างพวกเชื้อมาลาเรีย ไข้เหลือง และไข้เลือดออก นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบฟอสซิลที่มีเลือดอยู่ในท้องเลย จนกระทั่งทีมวิจัยของ Dale Greenwalt จาก US National Museum of Natural History ตรวจสอบและรายงานว่าพบเลือดในฟอสซิลหมายเลข USNM 559050 ซึ่งเป็นฟอสซิลยุงที่ค้นพบตั้งแต่ช่วงปี 1980 และเก็บรักษาอยู่ทีพิพิธภัณฑ์     
ฟอสซิลยุงที่นำมาศึกษานั้น ไม่ได้ฝังอยู่ในแท่งอำพันแบบในเรื่องจูราสสิค พาร์ค แต่ฝังอยู่ในหินดินดานที่เกิดจากตะกอนทับถมกันในน้ำ Greenwalt ใช้วิธีการหลากหลายเพื่อตรวจสอบองค์ประกอบของธาตุ และสารชีวโมเลกุลที่อยู่ในฟอสซิล ซึ่งพบธาตุเหล็กปริมาณสูงเมื่อเปรียบเทียบกับยุงตัวผู้ซึ่งไม่กินเลือด เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าในท้องยุงตัวเมียน่าจะมีเลือดมาก่อน       
    
นอกจากนี้หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือ การพบโมเลกุลของ Porphyrin ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการสลายตัวของฮีโมโกลบินที่พบได้ในเลือดของสัตว์มีกระดูกสันหลังเท่านั้Haemoglobin ที่สลายไปเป็น Porphyrin   แต่สำหรับคนที่หวังว่านักวิทยาศาสตร์จะโคลนนิ่งไดโนเสาร์ได้แบบในเรื่องจูราสสิค ปาร์ค คงต้องผิดหวังหน่อย เพราะ DNA ในเลือดถูกทำลายไปเกือบหมดแล้ว นอกจากนี้เลือดที่อยู่ในท้องยุงยังไม่ใช่เลือดไดโนเสาร์อีกด้วย เพราะอายุของฟอสซิลดังกล่าวมีอายุ 43 ล้านปี ซึ่งเป็นยุคที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ดังนั้นเลือดในท้องจึงไม่ใช่ของไดโนเสาร์แน่นอน                          

แม้ว่าเลือดจากฟอสซิลยุงจะยังไม่สามารถใช้ศึกษาข้อมูลของสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วแบบในภาพยนตร์ แต่การค้นพบนี้ก็แสดงให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่าเลือดที่ยุงดูดมาจากเหยื่อสามารถถูกเก็บรักษาไว้ในฟอสซิลได้จริง ขยับเข้าใกล้จินตนาการในภาพยนตร์ไปอีกก้าวหนึ่ง             

นอกจากนี้ฟอสซิลยังให้ข้อมูลที่ทำให้ทราบถึงสภาวะที่เหมาะแก่การเกิดฟอสซิลที่รักษาเลือดในท้องไว้ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการมองหาชั้นหินที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อศึกษาหาฟอสซิลที่สมบูรณ์กว่านี้ วันหนึ่งเราอาจจะได้พบฟอสซิลยุงที่มีเลือดซึ่งพันธุกรรมของสัตว์โบราณถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์กว่านี้  

รายการบล็อกของฉัน