พบฟอสซิลดวงตา สัตว์นักล่าดึกดำบรรพ์เชื่อมีอายุกว่า 515 ล้านปี


นักวิทย์ออสซี่พบ"ฟอสซิลดวงตา"สัตว์นักล่าดึกดำบรรพ์เชื่อมีอายุกว่า 515 ล้านปี

นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียแสดงความยินดีหลังจากการค้นพบซากฟอสซิลดวงตาคู่หนึ่งที่คล้ายแมลง ซึ่งเป็นของสัตว์นักล่ารูปร่างแปลกประหลาดยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่หากินอยู่ในทะเลเมื่อกว่า 515 ล้านปีมาแล้วการพบโดยบังเอิญดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ "เนเจอร์" ระบุว่า ดวงตาดังกล่าวมีขนาดเส้นรอบวง 3 เซนติเมตร ประกอบด้วยเลนส์ 16,000 ชิ้น ซึ่งเป็นของสัตว์ในตระกูลหอยขนาดใหญ่
ที่มีชื่อเรียกว่า อโนมาโลคาริส  หรือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้งขนาดใหญ่

ที่อาศัยร่วมกับตัวไทรโลไบท์ หรือแมลงทะเล ที่สูญพันธุ์ไปแล้วสมัยดึกดำบรรพ์ ที่มีรูปร่างแบนเป็นวงรี แต่ตาของมันสามารถมองเห็นภาพต่างๆได้เพียงลางๆเท่านั้น โดยสามารถแยกความมืดและความสว่างได้ แต่ไม่สามารถแยกรูปร่างของสิ่งใดๆได้ ซากดังกล่าวพบอยู่ในหินบนเกาะแกงการูของออสเตรเลีย

อโนมาโลคาริสเมื่อโตขึ้นจะมีความยาวถึง 1 เมตร  สัตว์ชนิดนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นเหมือนฉลามขาวยักษ์แห่งท้องทะเลในยุคแคมเบรียน  ซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในทะเลยุคโบราณ

ดร.จิม จาโก ผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ จากสถาบัน UniSA กล่าวว่า เขารู้สึกประหลาดใจต่อผลการค้นพบโดยบังเอิญครั้งนี้ และว่าระหว่างที่เขาทำการจัดระบบซากฟอสซิลประเภทอื่นอยู่นั้น เขาบังเอิญสังเกตเห็นซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว และเห็นว่ามันมีความซับซ้อนมาก
กว่าซากประเภทเดียวกันที่เขาเคยพบ...

นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจกับจำนวนเลนส์ที่อยู่ในดวงตาของสัตว์ชนิดนี้ เพราะมีจำนวนเป็นรองเพียงเลนส์ดวงตาของแมลงปอในยุคปัจจุบันซึ่งมีประมาณ 30,000 ชิ้น  

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อโนมาโลคาริสมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วมากในด้านการมอง น่าจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการวิวัฒนาการในบรรดาสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วย และยืนยันว่า อโนมาโลคาริสเป็นบรรพบุรุษของสัตว์จำพวกอาร์โทรพอดยุคใหม่จำพวกแมงมุม แมงป่อง กุ้ง ปู และแมลงต่าง ๆ
ฟอสซิลของอโนมาโลคาริสที่ถูกค้นพบ เป็นฟอสซิลที่ถูกฝังอยู่ในโคลนก้นทะเลเมื่อประมาณ 500 ล้านปีที่แล้วของออสเตรเลีย ซึ่งในยุคนั้นออสเตรเลียเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปกอนด์วานา ที่ตั้งอยู่ในน่านน้ำเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร